กว่าจะได้เดินอย่าง ‘ไพรด์’: สำรวจพาเหรดงานไพรด์และกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก

กว่าจะได้เดินอย่าง ‘ไพรด์’: สำรวจพาเหรดงานไพรด์และกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก

กว่าจะได้เดินอย่าง ‘ไพรด์’: สำรวจพาเหรดงานไพรด์และกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ไพรด์พาเหรดครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1970 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ โดยมีการเดินขบวนในวันที่ 27 มิถุนายน ในหลายเมือง ทั้งชิคาโก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก
  • ปัจจุบันมีการจัดงานไพรด์พาเหรดในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก แต่มีเพียง 31 ประเทศ หรือเพียง 38% เท่านั้นที่กฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน
  • ไทยเคยมีการจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี 1999 ในชื่อ Bangkok Gay Festival 1999 เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม และรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานเรื่อยมาอีกหลายครั้งและต้องหยุดไปในปี 2017
  • 5 มิถุนายน 2022 มีการจัดงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีการเดินขบวนพาเหรดจากหน้าวัดแขกมุ่งหน้าสู่ถนนสีลม และในกลางเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะมีการนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาอีกครั้งเพื่อพิจารณา

เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งไพรด์ (Pride Month) อันเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ ในสหรัฐอเมริกา โดยในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปที่บาร์เกย์ชื่อสโตนวอลล์ อิน (Stonewall Inn) ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีการจับกุม LGBTQ+ ในบาร์

1 ปีหลังจากนั้นก็มีการเดินขบวนพาเหรดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นและเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+ โดยเริ่มจากหลายๆ เมืองในสหรัฐฯ ก่อนจะลามไปทั่วโลก โดยได้ยึดเอาเดือนมิถุนายนเป็นช่วงเวลาในการเคลื่อนไหว จนทำให้เดือนมิถุนายนของทุกปี คือ Pride Month

AFP

พาเหรดงานไพรด์ ประเทศไหนมีบ้าง

ไพรด์พาเหรด (Pride parade) ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1970 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ โดยมีการเดินขบวนในวันที่ 27 มิถุนายน ในหลายเมืองทั้ง ชิคาโก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก หลังจากนั้นสองปีก็มีการจัดไพรด์พาเหรดในสหราชอาณาจักร ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1972

จะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีแรกที่เริ่มมีการจัดไพรด์พาเหรดนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศในแถบยุโรป ทั้งฟินแลนด์ในปี 1975 ตามมาด้วยฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ในปี 1979 ส่วนแถบเอเชียนั้น ฟิลิปปินส์เริ่มมีการเดินขบวนในวันที่ 26 มิถุนายน 1994 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ และในปีเดียวกันนั้นญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีการเดินขบวนเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ชื่อว่าไพรด์พาเหรดจนกระทั่งในปี 2007

ในทวีปแอฟริกา ประเทศแอฟริกาใต้ เดินขบวนครั้งแรกในวันที่ 13 ตุลาคม 1990 และประเทศล่าสุดคือมาลาวีในปี 2021 ส่วนทวีปอเมริกาใต้ มีประเทศโคลอมเบีย ในปี 1982 ตามมาด้วยอุรุกวัยในปี 1990 และอาร์เจนตินาในปี 1992 โดยปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ที่มีการจัดขบวนไพรด์พาเหรด

ในช่วงแรกของการจัดการเดินขบวนไพรด์พาเหรดนั้น อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตั้งแต่ Gay Parade, Gay and Lesbian Parade, LGBT Parade ฯลฯ และมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ เรียกร้องสิทธิ การยอมรับในสังคมของเพศทางเลือก เฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ

โดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายนั้น แรกเริ่มเดิมที ในหลายประเทศจะเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย Sodomy Law ที่บัญญัติว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาเป็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติอันมาจากความแตกต่างทางเพศ หรือแม้กระทั่งหลักประกันความเสมอภาคความเท่าเทียมกันในรัฐธรรมนูญ

 AFP

ในประเด็นเรื่องการผลักดันกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักที่มีการเรียกร้องผลักดันในหลายๆ ประเทศทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าปัจจุบันมีประเทศและดินแดนที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน 51 ประเทศ/ดินแดน แต่หากพิจารณาเฉพาะประเทศหลักๆ จะพบว่ามีเพียง 31 ประเทศเท่านั้น โดยประเทศล่าสุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022

หากนับช่วงเวลาตั้งแต่ปีที่เริ่มมีการจัดไพรด์พาเหรดจนถึงปีที่มีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะพบว่า ประเทศที่เริ่มมีการจัดงานไพรด์พาเหรดครั้งแรกอย่างสหรัฐอเมริกา ใช้เวลานานที่สุดถึง 45 ปี ตามมาด้วยออสเตรเลีย 44 ปี และสหราชอาณาจักร 42 ปี ในขณะที่ก็มีอีกหลายประเทศที่ความเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ผ่านการจัดงานไพรด์พาเหรดนั้นมาพร้อมการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น นิวซีแลนด์ ที่เริ่มมีการจัดงานไพรด์พาเหรดในปี 2013 และมีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปีเดียวกัน หรือมอลตา ที่มีการจัดงานไพรด์พาเหรดในปี 2016 และผ่านกฎหมายในปี 2017

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แม้จะมีการจัดงานไพรด์พาเหรดในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก แต่มีเพียง 31 ประเทศ หรือเพียง 38% เท่านั้นที่กฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน นัยหนึ่งอาจมองได้ว่าขบวนพาเหรดงานไพรด์ที่จะมีขึ้นทั่วโลกในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเพียงแค่สีสันที่รัฐบาลในประเทศนั้นๆ ให้การยอมรับทางสังคมและยอมให้จัดเสียมากกว่าที่จะยอมรับในทางกฎหมาย

อีกนัยหนึ่งก็สามารถมองได้ว่ายังมีประเทศอีกกว่า 62% ที่ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมกันผ่านพาเหรดงานไพรด์

AFP

หลากหลายแง่มุมของงานไพรด์พาเหรด

ใน 73 ประเทศที่มีการจัดงานไพรด์พาเหรดนั้น นอกจากประเด็นเรื่องการรำลึกถึงเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ แล้ว การจัดงานในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันอีกด้วย ในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ โดยเฉพาะประเทศที่กฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน งานไพรด์พาเหรดเป็นเสมือนดั่งงานเชิงวัฒนธรรมและมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในรูปแบบของงาน ‘เฟสติวัล’ ไม่ว่าจะเป็นไพรด์พาเหรดที่ลอสแองเจลิส ที่ในปี 2019 สามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึง 74.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว หรืองานไพรด์ที่นิวยอร์ก สเปน บราซิล ฝรั่งเศส ที่ก็กลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่แต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางมาได้และใช้เงินอย่างมหาศาล

ขณะที่บางประเทศงานไพรด์คือการต่อสู้ขั้นต้นอย่างการได้รับการยอมรับในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยที่ยังไม่ต้องคิดถึงการต่อสู้ในประเด็นทางกฎหมาย อันเป็นผลมาจากสังคมวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ ที่มีความอนุรักษนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา ไม่ว่าจะเป็นบัลแกเรีย ที่งานไพรด์พาเหรดในปี 2008 ถูกกลุ่มชายหัวอนุรักษนิยมเข้าปะทะ เช่นเดียวกับเซอร์เบียในปี 2001

AFP

ตุรกีเป็นประเทศมุสลิมที่มีการจัดงานไพรด์พาเหรดมาตั้งแต่ปี 2003 ก่อนจะโดนแบนในปี 2015 ในขณะที่อิสราเอลเมืองแห่งพหุศาสนาที่ถูกต่อต้านทั้งจากชาวมุสลิม ยิว และคริสเตียน แต่ในขณะเดียวกันงานไพรด์ของอิสราเอลนั้นกลายเป็นงานที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากที่สุดกว่า 250,000 คนต่อปี สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ขณะเดียวกัน หลายประเทศที่ไม่มีงานไพรด์พาเหรด ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ+ เลย เพียงแต่สภาพสังคมและกฎหมายในประเทศนั้นๆ ไม่เปิดให้เกิดการเดินขบวนได้อย่างเสรี เช่น อิหร่าน ประเทศมุสลิมที่ยังมีกฎหมาย Sodomy Law อยู่ เพราะขัดกับหลักศาสนานั้น ในช่วงเดือนไพรด์ก็จะเป็นการงานแบบกองโจร โดยการถ่ายรูปกับธงสีรุ้งตามสถานที่ต่างๆ และโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย

หรืออินโดนีเซีย ก็จะมีการจัดงานไพรด์ในบาหลี ซึ่งเป็นเมืองนักท่องเที่ยวที่ไม่เคร่งครัดทางศาสนามากนัก ประเทศจีน หรือเกาหลีใต้ แม้จะไม่มีการเดินขบวนพาเหรดแต่ก็มีการจัดอีเวนต์ต่างๆ อย่างการฉายหนัง นิทรรศการ และกิจกรรมรณรงค์ในสถานที่ปิด เช่นเดียวกันกับสิงคโปร์ ที่แม้อาจจะไม่มีไพรด์พาเหรด แต่ก็เคยมีการจัดงานในรูปแบบและชื่อที่แตกต่างกันออกไป ในชื่องาน Pink Dot

AFP

การกลับมาอีกครั้งของงานไพรด์พาเหรดในกรุงเทพฯ

สำหรับประเทศไทย เราเคยมีการจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี 1999 ในชื่อ Bangkok Gay Festival 1999 โดยมีโต้โผหลักคือ ปกรณ์ พิมพ์ทนต์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถานบันเทิงในย่านสีลม และมีการเดินขบวนจากถนนพระรามสี่จนถึงถนนสีลม ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานก็คือการสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม และรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานเรื่อยมาอีกหลายครั้งและต้องหยุดไปในปี 2017 เนื่องด้วยเหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ยังเคยมีการจัดงานเกย์ไพรด์ที่เชียงใหม่ในปี 2009 ซึ่งถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นจนต้องยุติการจัดงานในที่สุด และกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2019 หรือที่ภูเก็ตก็มีการจัดงาน Phuket Gay Pride มาตั้งแต่ปี 1999 ด้วยเช่นเดียวกัน

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 ก็มีการจัดงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีการเดินขบวนพาเหรดหน้าวัดแขกมุ่งหน้าสู่ถนนสีลม พร้อมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและสวัสดิการจากรัฐ

นอกจากนี้ กลางเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาหลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ซึ่งเสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกลไปแล้วครั้งหนึ่ง รวมไปถึงเมื่อปลายปี 2021 ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยออกมาว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

นี่อาจจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่าให้การ ‘ยอมรับ’ เพศทางเลือกที่หลากหลายนั้น ยอมรับในระดับใด ระดับที่เพียงอนุญาตให้ไพรด์พาเหรดได้ หรือระดับที่ยอมรับว่าเพศทางเลือกนั้นควรได้รับสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมทางกฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook