ต้องเปลี่ยนแปลง! ร่วมจับตาความคืบหน้าแก้ไขระเบียบ “ทนายหญิงสวมกางเกงไปศาลได้”
หลังมีแคมเปญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระเบียบที่กำหนดให้ทนายความหญิงสามารถสวมกางเกงไปศาลได้ ก็มีนักกฎหมายและประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทว่าก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการพิจารณาแก้ไขระเบียบดังกล่าว นิติฮับ (Nitihub) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และทนายความหญิงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจึงจะไปทวงถามความคืบหน้าต่อคณะกรรมการเจ้าหน้าที่เนติบัณฑิตยสภาอีกครั้ง ในวันศุกร์ ที่ 17 มิถุนายน 2565 นี้
เหตุการณ์ทนายความหญิง ซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความ ถูกผู้พิพากษาตักเตือน ถูกตำหนิติเตียน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย หรือถูกห้ามว่าความ เนื่องจากสวมใส่กางเกงไปศาล เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อว่า “ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลไม่ได้” จะเป็นเรื่องจริง แต่เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนของสภาทนายความ ที่ระบุไว้ในข้อที่ 20 ของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยเรื่องมรรยาททนายความ ที่ให้ทนายความหญิงต้อง “แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” รวมทั้งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ หมวด 3 สิทธิของสมาชิก ข้อ 17 ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรง
กฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน จึงนำมาสู่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นิติฮับ (Nitihub), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และประชาคมทนายความ คือกลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจ ยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เท่าเทียมออกไป และกำหนดให้ทนายความแต่งกายสุภาพตามสากลก็เพียงพอแล้ว ซึ่งมีการผลักดันอย่างสม่ำเสมอ ทว่าก็ยังไม่มีความคืบหน้า และทนายความหญิงที่สวมกางเกงก็ยังคงถูกเลืิกปฏิบัติเช่นเดิม
ด้วยเหตุนี้ วันศุกร์ ที่ 17 มิถุนายน 2565 นี้ ทางกลุ่มผู้ขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว จึงจะเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าของการพิจารณาแก้ไขระเบียบดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมทั้งยื่นรายชื่อจากแคมเปญ “ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กสงเกงไปศาล” บน https://chng.it/9nKgGbb4QG ซึ่งมีนักกฎหมายและประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 16,503 รายชื่อ และยังมีผู้ลงชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ