ผลสำรวจชี้ ภาวะโภชนาการเด็กในอาเซียน “น่าเป็นห่วง” จำเป็นต้องเร่งแก้ไข

ผลสำรวจชี้ ภาวะโภชนาการเด็กในอาเซียน “น่าเป็นห่วง” จำเป็นต้องเร่งแก้ไข

ผลสำรวจชี้ ภาวะโภชนาการเด็กในอาเซียน “น่าเป็นห่วง” จำเป็นต้องเร่งแก้ไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (17 มิถุนายน 2565) ฟรีสแลนด์คัมพิน่า และ 4 สถาบันชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดผลสำรวจโครงการภาวะโภชนาการเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 2 หรือ SEANUTS II ซึ่งเป็นการสำรวจเด็กระหว่างอายุ 6 เดือน - 12 ปี กว่า 14,000 คน จากประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2562 - 2564 พบว่าเด็กมีภาวะทุพโภชนาการถึง 3 ลักษณะ ได้แก่ ภาวะโภชนาการทางด้านขาด อาทิ ภาวะเตี้ยแคระเกร็น, การขาดสารอาหารกลุ่มรอง และภาวะโภชนาการเกิน อาทิ ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน เป็นต้น 

ผลการศึกษาดังกล่าว ต่อยอดมาจากการสำรวจภาวะโภชนการเด็ก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 หรือ SEANUTS I ในปี พ.ศ. 2555 โดยการศึกษาครั้งนี้พบปัญหาภาวะเตี้ยแคระแกร็นและภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่เด็กโตประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และในภาพรวมยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่ ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และพบกลุ่มที่มีภาวะพร่องวิตามินดี จากประเด็นปัญหาทุพโภชนาการ 3 ลักษณะข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการที่ขาดหาย ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ประเทศไทย ระบุว่า โภชนาการที่ดีเกิดจากการบริโภคอาหารที่สมดุล ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม พอเพียง และมีความหลากหลายของอาหาร หากเด็กไม่ได้รับโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็น ก็จะไม่สามารถเติบโตและมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมได้ 

“ผลสำรวจที่ประเมินจากการบริโภคอาหาร พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของเด็กในทั้ง 4 ประเทศที่เราทำการศึกษา ไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ และมากกว่าร้อยละ 84 ได้รับวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวเลขจากผลสำรวจเป็นสัญญาณสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโภชนาการ รวมถึงการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีสารอาหารสำคัญที่จำเป็นและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก” รศ.ดร.นิภากล่าว 

มาร์เกรเธ ยองค์มาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า ชี้ว่า การวิจัยคือกุญแจสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของความต้องการด้านโภชนาการของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้ก็ช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มอบโภชนาการที่ดียิ่งขึ้น และต่อยอดสู่การออกแบบโครงการที่จะร่วมมือกับหน่วยงาน สถานศึกษา และบุคลากรด้านโภชนาการในแต่ละประเทศ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการมีโภชนาการที่ดี และวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเยาวชน 

ด้านนายวิภาส ปวโรจน์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก็กล่าวเสริมว่า โครงการ SEANUTS ช่วยให้เข้าใจเรื่องโภชนาการของเด็กไทย นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความร่วมมือกับองค์กรรัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการให้ดียิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook