ย้อนรอย "แหลมเกตซีฟู้ด" ตำนานขายโปรบุฟเฟต์ ก่อนถูกศาลสั่งจำคุก 1,446 ปี

ย้อนรอย "แหลมเกตซีฟู้ด" ตำนานขายโปรบุฟเฟต์ ก่อนถูกศาลสั่งจำคุก 1,446 ปี

ย้อนรอย "แหลมเกตซีฟู้ด" ตำนานขายโปรบุฟเฟต์ ก่อนถูกศาลสั่งจำคุก 1,446 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนคดี "แหลมเกต" ตำนานขาย Voucher โปรโมชันบุฟเฟต์ราคาถูก แต่สุดท้ายเบี้ยวลูกค้า จนกลายเป็นคดีถูกศาลตัดสินจำคุก 1,446 ปี ท่ามกลางประเด็นร้อนแรงมีร้านอาหารญี่ปุ่นเทลูกค้าทิ้งอีกแล้ว

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนแรงในสังคมเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังแห่งหนึ่ง ปิดให้บริการโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า และเพจเฟซบุ๊กก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งในเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักบุฟเฟต์ Buffet Lovers นั้น ปรากฏว่า บรรดาลูกค้าต่างพากันตั้งข้อสังเกตถึงร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นรายดังกล่าวว่า จู่ๆ เพจเฟซบุ๊กของร้านหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

ขณะที่ในโลกทวิตเตอร์ก็มีการติดแฮชแท็กชื่อร้านที่ว่านี้ขึ้นมาจนติดเทรนด์ เพราะลูกค้าหลายคนยังไม่รู้ และมีการซื้อคูปอง หรือ Voucher เอาไว้ พอไปที่ร้านกลับพบว่าร้านปิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ลูกค้าเกิดความกังวลว่า คูปองหรือ Voucher ที่เสียเงินซื้อเอาไว้ จะนำมาใช้บริการได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกด้วยว่า เจ้าของร้านอาหารดังกล่าว เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงเรื่องราวคล้ายๆ กันที่เคยเกิดขึ้นในวงการร้านอาหารก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ คดี "แหลมเกตซีฟู้ด" ซึ่งมีการขายคูปองหรือ Voucher โปรโมชันบุฟเฟ่ต์ซีฟู้ดราคาถูก แต่สุดท้ายกลับเทลูกค้าจนกลายเป็นคดีความเกิดขึ้น กระทั่งศาลตัดสินจำคุกผู้บริหาร ในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนรวม 723 กระทง เป็นเวลา 1,446 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ร้านซีฟู้ดเจ้าดังในเวลานั้นอย่าง "แหลมเกต" ทำการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของร้าน จำหน่ายบัตรรับประทานอาหารเป็นจำนวนมากตามแต่ละโปรโมชั่น ซึ่งมีราคาถูกและต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น “โปรราชาทะเลบุฟเฟต์” ขายเป็นชุดๆ ละ 880 บาท มี 10 ที่นั่งๆ ละ 88 บาท, “โปรนาทีทองมาแล้วจ้า” ขายเป็นชุดๆ ละ 2,020 บาท มี 20 ที่นั่งๆ ละ 101 บาท, “โปรแฟนพันธุ์แท้” ขายเป็นชุดๆ ละ 3,000 บาท มี 30 ที่นั่งๆ ละ 100 บาท และโปรโมชั่นหมีหมี เป็นต้น

ในช่วงเวลานั้นต้องบอกว่ามีลูกค้าสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าเมื่อลูกค้านำคูปอง Voucher ไปใช้บริการตามโปรโมชันที่เปิดขาย กลับกลายเป็นว่า บางเมนูต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน ผลสุดท้ายทำให้หลายคนใช้ Voucher ไม่ทัน

ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2562 "แหลมเกต" ประกาศขอยกเลิกและงดบริการทุกโปรโมชัน เนื่องจากได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามและเกินความคาดหมาย ทำให้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใช้วัตถุดิบสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียหายจำนวน 350 รายเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ซึ่งมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2,207,720 บาท และยังมีผู้เสียหายที่ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนจำนวนมาก พนักงานสอบสวนจึงยื่นขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา และศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับที่ 1086/2562 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2562

ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 343

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2808/2562 ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกต อินฟินิท จำกัด, นายอพิชาต หรือ โจม บวรบัญชารักษ์ หรือ พารุณจุลกะน.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิด ร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการ ด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

หลังจากศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 341, 83 รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1)

การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กับ ฐานหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน มีอัตราโทษเท่ากัน

จึงให้ลงโทษฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 341, 83 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทง ให้จำคุกจำเลยที่ 2, 3 ทุกกระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมปรับ 3,615,000 บาท

จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งทุกกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 723 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) จำเลยที่ 1 คงปรับ 1,807,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 2,500,960 บาท แก่เจ้าของ

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วกรณีร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่งจะมีพฤติกรรมเทลูกค้าแล้วปิดร้านปิดเพจเฟซบุ๊กหนีหายไปนั้น จะถูกดำเนินคดีอย่างไรบ้าง เพราะล่าสุดวันนี้ (20 มิ.ย.) มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนรวมตัวกันเพื่อดำเนินการเอาผิดแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook