โดนใบสั่งไม่เสียค่าปรับ นครบาลจ่อ "ออกหมายจับ" เช็กใบสั่งออนไลน์ได้แล้ววันนี้
นครบาลสวมบทโหด! เตรียมบังคับใช้กฎหมาย "ไม่ชำระค่าปรับ-ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำซาก" มีสิทธิเจอ "ออกหมายจับ"
วันนี้ (20 มิ.ย.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น./โฆษก บช.น. แถลงแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ทำผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร แล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก และยังคงมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาการจราจร
กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ในระดับหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
- เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้ทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน ซึ่งผู้ทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับได้ที่สถานีตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทย, เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์
- กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ
- กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน1,000 บาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ได้
- ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้วจะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับ ให้คดีอาญาเลิกกัน
“ปัญหาผู้กระทำความผิดด้านการจราจรแล้วไม่มาชำระค่าปรับ เกิดพฤติกรรมเคยชิน บางรายกระทำผิดซ้ำสูงถึง 59 ครั้ง ซึ่งความมุ่งหวังที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายนี้ คือ ต้องการลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ” พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุ
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (20 มิ.ย. 65) เป็นต้นไป และสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดซ้ำบ่อยครั้งก่อน
หากประชาชนมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน และหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197
วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ง่ายๆผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th
- ล็อกอินเพื่อเข้าใช้งานระบบใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th
- ใส่หมายเลขบัตรประชาชน และ รหัสผ่าน
- หลังจาก login มาแล้ว ระบบจะมามาที่หน้าตรวจสอบใบสั่ง ซึ่งสามารถเลือก วัน เดือน ปี ที่กระทำผิด และสามารถค้นหาข้อมูลได้ทันที