หมอเล่าเคสคนไข้ "ลำไส้กลืนกัน" มีอาการท้องเสียสลับท้องผูก ต้องผ่าตัดด่วน
หมอเล่าเคสคนไข้ "ลำไส้กลืนกัน" มีอาการท้องเสียสลับท้องผูก ต้องผ่าตัดด่วน เพราะอาจติดเชื้อเสียชีวิตได้ เผยโรคนี้พบได้ในทุกวัย
(26 มิ.ย.65) นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก Arak Wongworachat เล่าถึงเคสผู้ป่วยโรคลำไส้กลืนกัน ซึ่งพบได้ในทุกวัยทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่
เคสดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ วัย 68 ปี เข้าโรงพยาบาลสิชลด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเป็นพักๆ ท้องเสีย ท้องผูกสลับกัน มีอาการติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ตอนแรกผู้ป่วยคิดว่าน่าจะมาจากอาการอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ จึงตัดสินใจเข้ามารักษาดังกล่าว
แพทย์ห้องฉุกเฉิน เห็นว่าผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุและเป็นมานาน ควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด จึงปรึกษาอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ ไปพร้อมๆ กัน จนได้ภาพรังสีจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ออกมา พบว่ามีส่วนของลำไส้เล็กส่วนปลายกลืนกัน จึงวางแผนรักษาโดยการผ่าตัดทันที
สำหรับผู้ป่วยรายนี้โชคดีที่ได้รับการผ่าตัดก่อนที่ลำไส้จะทะลุ หากผ่าตัดไม่ทันเวลาจะทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ ลำไส้ส่วนที่อุดตันถูกบีบรัดกันจนขาดเลือดไปเลี้ยง ส่งผลให้เนื้อเยื่อลำไส้เน่าตาย หากไม่ได้รับการรักษาผ่าตัดส่วนที่เน่าออก และตัดต่อลำไส้ใหม่ จะนำไปสู่การทะลุและฉีกขาดของผนังลำไส้ จนเกิดการติดเชื้อในช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด
สำหรับสาเหตุของลำไส้กลืนกัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่การเกิดโรคลำไส้กลืนกันในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ การผ่าตัดลำไส้ มีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอกในลำไส้ ที่ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ ในกรณีของเด็กโตและผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากพังผืดในลำไส้ การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ การติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ เป็นต้น