"หมอยง" คาดโควิดระบาดลากยาวถึง ส.ค. ชี้ โอมิครอน BA.5 กำลังมาแทนที่ BA.2

"หมอยง" คาดโควิดระบาดลากยาวถึง ส.ค. ชี้ โอมิครอน BA.5 กำลังมาแทนที่ BA.2

"หมอยง" คาดโควิดระบาดลากยาวถึง ส.ค. ชี้ โอมิครอน BA.5 กำลังมาแทนที่ BA.2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า หลังจากนักเรียนเปิดเทอม โควิดก็ได้มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์หลังนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก

ทั้งนี้ ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจมาโดยตลอด จะเห็นว่าแต่ละสายพันธุ์จะครองพื้นที่อยู่ไม่นาน สายพันธุ์โอมิครอนเปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 และในเดือนนี้สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ BA.5

“ในอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะยึดพื้นที่ทั้งหมดแทน BA.2 ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นเป็นระลอก สายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนได้สูงขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดโรคได้ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรง” นพ.ยง ระบุ

อย่างไรก็ดี ถ้านับจำนวนทั้งหมดของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณหลายหมื่นคน มากกว่ายอดที่รับไว้ในโรงพยาบาล ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานหลายสิบเท่า ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตขณะนี้น่าจะน้อยกว่า 0.1% ของผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) และผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม

“วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้การระบาดที่ขึ้นสูงขณะนี้ สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้เป็นจำนวนมาก การระบาดขณะนี้อยู่ในฤดูกาล และจะระบาดต่อไปจนถึงเดือนส.ค. จึงจะค่อยๆ ลดลง โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อไปเป็นจำนวนมาก อยากให้ทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็มหรือ 5 เข็ม ก็คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างของเข็มสุดท้ายว่าฉีดมาแล้วนานเท่าไหร่” นพ.ยง ระบุ

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็จะสามารถหายได้เอง ทั้งนี้ ที่เป็นห่วงคือกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ควรจะได้ยาต้านไวรัส โดยยาต้านไวรัสที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำมีทั้งหมด 3 ตัว ที่ใช้ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต คือ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ทั้ง 3 ตัวจึงเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย และให้เร็วที่สุดอย่างน้อยต้องภายใน 5 วันหลังมีอาการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook