อีกหนึ่งเสียง! "หมอเทพ ประตูน้ำโพลีคลินิค" หนุน พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ
อีกเสียง! "หมอเทพ ประตูน้ำโพลีคลินิค" หนุน พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ
นอกจากกระแสการรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ ที่ให้สิทธิผู้หญิงข้ามเพศ หรือ Transwomen เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่รณรงค์ในเดือน Pride Month
หากพูดถึงเรื่องนี้ คนหนึ่งที่เป็นเสมือนผู้ให้ชีวิตใหม่กับผู้หญิงข้ามเพศในเอเชีย นั่นก็คือ หมอเทพ หรือ นพ.เทพ เวชวิสิฐ เจ้าของประตูน้ำโพลีคลินิค แพทย์ศัลยกรรมเสริมความงามชื่อดัง และผู้สนับสนุนการประกวดสาวประเภทสอง เวทีมิสทิฟฟานี ตั้งแต่ปี 2539
ทีมข่าว Sanook News สัมภาษณ์พิเศษพูดคุยถึงตัวตน การทำงาน ไปจนถึงแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศในมุมมองของหมอเทพ ที่แม้จะมีภรรยา มีลูก แต่มีความเข้าใจเรื่องของ LGBTQ ผ่านประสบการณ์ทำงานกว่า 40 ปี
เป็นหมอ 365 วันไม่เคยหยุด เพราะชีวิตคนไข้สำคัญ!
นพ.เทพ เล่าว่า เขาก่อตั้งประตูน้ำโพลีคลินิคมาราว 30 กว่าปีก่อน เริ่มจากการรักษาโรคทั่วไป และปานดำ ปานแดง เพราะตอนนั้นแพทย์ที่ทำด้านเสริมสวยมีน้อยมากไม่ถึง 20 ราย เนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนให้เอาเงินงบประมาณของชาวนามาเปิดหลักสูตรแพทย์ศัลยกรรมความงามเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งตัวเองก็ต้องไปเรียนเอาจากการดูผ่าตัดจริง หรือการอบรม ประชุมวิชาการที่ต่างประเทศ เพื่อเอากลับมารักษาคนไข้ หลายคนที่เป็นปานบนหน้า ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่พอรักษาหาย พวกเขาก็เหมือนได้ชีวิตใหม่ บางคนถึงขั้นกราบเท้าหมอเทพด้วยความซาบซึ้ง
เช่นเดียวกับ สาวประเภทสอง ที่เขาเกิดมาเป็นเพศชาย มีอวัยวะเพศที่เขาไม่ต้องการ เป็นส่วนเกิน มันก็เป็นความทุกข์ของเขา บางคนฆ่าตัวตาย หรือบางคนตัดอวัยวะเพศทิ้งเองก็อันตรายเหมือนที่เคยเห็นในข่าว ซึ่งหลายครั้ง คนที่ไม่มีเงินจริงๆ มาขอความช่วยเหลือ ตัวเองก็ช่วยผ่าตัดให้ คิดว่าเป็นการเฉลี่ย ถ้าเดือนนึงผ่าตัดสัก 100 เคส แล้วทำฟรี 3 เคส เรายังไม่ขาดทุนก็ยังทำได้ จนกลายเป็นคำฮิตที่ล้อกันในวงว่า “จิ๋มนี้หมอเทพให้มา” ซึ่ง นพ.เทพ บอกว่าก็เป็นเรื่องจริง เพราะบางคนพ่อแม่ให้ร่างกายและทุกอย่างมาครบแล้ว แต่จมูก รูปลักษณ์ หรือเพศ ที่พ่อแม่ให้ไม่ได้ หมอก็ต้องเป็นคนทำให้ แต่บางรายพ่อแม่ก็ให้เงินมาทำ ขณะที่บางรายพ่อแม่ไม่ยอม มาดักรอหน้าคลินิคไม่ให้แปลงเพศให้ลูกก็มี ซึ่งตัวเองก็ไม่ทำ เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาในครอบครัว แต่ก็จะบอกพ่อแม่ว่า เราต้องเข้าใจเขาด้วย อย่าคิดมาก คนเราอยู่ยังไงก็ไม่เกินร้อยปี เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยากทำอะไรก็ไม่น่าไปขัดเขา
นพ.เทพ บอกว่า คลินิคเปิด 365 วัน ไม่เคยปิดแม้กระทั่งปีใหม่ หรือสงกรานต์ ทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น หรือถ้ามีเคสด่วนก็เรียกได้ตลอด เพราะในการผ่าตัด สมมติว่าทำนม จะมีโอกาสตกเลือด 3% เท่ากับว่า 100 คนจะตกเลือด 3 คน เราจึงต้องแสตนด์บายตลอด ถ้าทำแล้ว คืนนี้กลับไปตกเลือด เขาก็จะมารักษาได้ทัน ไม่ใช่ทำวันที่ 29 ธันวาคม แล้วคลินิคปิดปีใหม่ ติดต่อแพทย์ไม่ได้ คนไข้ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
และด้วยความที่เปิดทุกวัน เมื่อถามหมอว่าแปลงเพศและทำนมมาแล้วกี่ราย หมอบอกว่าแปลงเพศไม่ได้นับนานแล้ว และทำนมก็อาจจะถึงแสนราย เพราะตัวเองก็เป็นคนที่สั่งซื้อเต้านมเทียมเยอะที่สุดในประเทศ
หมอผ่าตัดแปลงเพศ-สปอนเซอร์ทิฟฟานี ทำให้เข้าใจ LGBTQ มากขึ้น
นพ.เทพ เล่าว่า ตอนนั้นก็มีเวทีประกวดมิสทิฟฟานีเคยมาขอสปอนเซอร์ ตอนแรกก็ให้ไปแบบไม่คิดอะไร แต่หลังจากนั้นเขาเชิญให้ไปเป็นกรรมการ เราเลยได้เห็นอะไรเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง และยังสนับสนุนมาจนถึงทุกวันนี้เพราะมองว่าเป็นการสร้างโอกาสเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกับตัวเองเวลามีชาวต่างชาติบินมาเสริมความงามก็คิดราคาเท่าคนไทยและมีแถมนิดหน่อยให้บ้าง เช่น ทำนมแถมตาสองชั้น เป็นต้น เพื่อให้เขามีความรู้สึกที่ดี และชวนเพื่อนๆ กลับมาประเทศไทย
นพ.เทพ ยอมรับว่า ตอนเป็นหมอจบใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจคนไข้มากเท่าไร แต่พอทำงานผ่านตัดเสริมสวยและแปลงเพศไปนานๆ ก็จะเริ่มเข้าใจว่าคนพวกนี้เขาคิดยังไง แล้วเขามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือยังไง
“เขาต้องผ่านมาตั้งแต่เด็ก เขาก็ผ่านความทุกข์ยากมา บางทีก็เยาะเย้ยถากถาง ล้อเลียนของกลุ่มข้างๆ หรือบางทีพ่อแม่ก็รับไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ผ่านทุกข์ยากมาพอสมควร จนกว่าวันนึงเขามีเงินมีทองมีโอกาส แล้วเขาตัดสินใจเปลี่ยน พอเขาเปลี่ยนเสร็จ เขาก็อยู่ในสังคมสบายขึ้น เขาก็แต่งตัวเป็นผู้หญิง ทำอะไรเหมือนผู้หญิงได้ มีแฟนเป็นผู้ชาย ได้อะไรได้ แต่เขาจะไปสมรสหรืออยู่ด้วยกันได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้นต้องว่ากันอีกที ถ้ากฎหมายรับรองเขาก็ได้อีกขั้นนึง” นพ.เทพ กล่าว
เขายังย้ำอีกว่าทุกคนมีความคิดและจินตนาการเป็นของตัวเอง ถ้าเขาคิดว่า ทำไมฉันเป็นผู้ชายแล้วฉันอยากเป็นผู้หญิง เราจะไปห้ามยังไง แล้วถามว่าเขาเพี้ยนไหม เขาก็ไม่ได้เพี้ยน แต่ถามว่าทำไมคิดอย่างนี้ก็เรื่องของเขา
หนุนสมรสเท่าเทียม-รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
นพ.เทพ กล่าวว่า ในประเทศที่ร่ำรวย หรือพัฒนาแล้ว บางประเทศ การผ่าตัดแปลงเพศเป็นสวัสดิการที่พลเมืองควรได้รับ เช่น อิหร่าน แต่ในประเทศที่มีการกดขี่และไม่มีเสรีภาพก็จะไม่ให้สิทธินี้ อย่างเช่นประเทศไทยเองก็ยังไม่มี เพราะไม่ร่ำรวย และผลักภาระไปให้ประชาชน ซึ่งน่าเห็นใจหากบางคนไม่มีเงินแปลงเพศ
“เขามีความรู้สึกว่าเขาเกิดมาแล้วเขาเป็นผู้หญิง แล้วจู๋มันเป็นส่วนเกินของเขา เขาดูแล้วเขามีความทุกข์ทุกวันเลย เพราะฉะนั้นบางคนเขาไปตัดของเขาเองก็มี บางคนไปฆ่าตัวตายก็มี เพราะฉะนั้นผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องซีเรียสพอสมควร ถ้ารัฐบาลสามารถสนับสนุนได้ หรือเขาสามารถหาตังค์ได้ เขาสามารถแก้ปัญหาได้ เรื่องนี้บางทีต้องเห็นใจเขา”
ขณะที่เรื่องสมรสเท่าเทียมและการเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพ หากไม่ได้ทำให้เราเสียสิทธิอะไร เราก็ควรให้เขาได้รับสิทธิของเขาเช่นกัน อย่างสมมติว่า เพื่อนเราเป็นผู้ชายแล้วอยากใช้คำว่านางสาว เราจะไปขัดเขาทำไม เพราะสิทธิเราก็ยังอยู่ที่เดิม ยังเป็นนายเหมือนเดิม
ส่วนที่ผู้ชายบางคนอ้างว่า กลัวโดนสาวประเภทสองที่เปลี่ยนคำนำหน้านามมาหลอกแต่งงาน นพ.เทพ มองว่า มันเป็นเรื่องพื้นฐานกว่าร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ อีก เพราะว่าเวลาคนจะแต่งงานกันก็ต้องตกลงกัน ต้องเปิดเผยข้อมูลความจริง ถ้าไม่รู้ไม่บอกก็จะเป็นข้ออ้างในการขอหย่าและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐาน
นอกจากนี้ นพ.เทพ เห็นว่าประเทศไทยชอบทำเรื่องที่ควรถูกกฎหมายให้ผิดกฎหมาย ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหา เช่น Sex Worker เป็นต้น เพราะในสังคมโลกทุกวันนี้ที่ดูเหมือนกว้าง แต่มันจะแคบลง เพราะว่ามันสื่อสารกันด้วยระบบอินเตอร์เน็ต มันเป็นสังคมที่ทุกคนจะมีอะไรคล้ายๆ กันเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเรื่องความรับรู้เรื่องเสรีภาพและความร่วมมือ
“ทุกวันนี้สังคมมันอยู่ด้วยความเสรี ความเสมอภาค เพราะฉะนั้นเราต้องบอกสังคมไทยเราว่า เราต้องเปลี่ยนไปสู่ยุคการค้าเสรี การเรียนเสรี การแสดงออกเสรี เพศเสรี ทุกอย่างเสรีหมด แม้กระทั่งกัญชายาเสพติด ทุกอย่างเสรีหมด แต่ว่าเราก็ต้องสอนว่าอะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปยุ่งมัน แต่ว่าเราจะไปกดขี่ข่มเหง ออกกฎหมายจำกัดสิทธิเขามากไม่ได้ เพราะว่ามันอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสุข” นพ.เทพ กล่าวทิ้งท้าย