“ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต - สมรสเท่าเทียม” กฎหมายเพื่อความหลากหลายทางเพศ
Highlight
- ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของไทย มีด้วยกัน 4 ฉบับ และสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องครอบครัว โดยเปลี่ยนจากชายกับหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้ เป็นเพศใด ๆ สามารถสมรสกันได้
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการแยก พ.ร.บ. มาอีกฉบับหนึ่ง ไม่ได้แตะต้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยคนเพศเดียวกันที่อยากสมรสกัน จะเป็นได้แค่ “คู่ชีวิต”
- แม้ขั้นตอนของการผ่านกฎหมายยังอีกยาวไกล แต่หลายฝ่ายก็มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ให้สิทธิกับกลุ่ม LGBTQ+ ออกมาบังคับใช้ และนั่นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม
ในช่วงโมงยามแห่งการตระหนักรู้เรื่องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ประเด็นหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “กฎหมาย” ที่จะมอบสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเท่าเทียมกับชาย-หญิง ทั้งเรื่องการแต่งงาน การสร้างครอบครัว ไปจนถึงเรื่องการมีบุตร ทว่า การต่อสู้เพื่อให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไม่ใช่เรื่องง่าย และกินเวลามานานหลายปี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ หมดหวัง และเดือนมิถุนายน 2565 ก็ดูจะเป็นเดือนแห่งความหวังของชาวสีรุ้งในประเทศไทย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับ “ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต” และ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” เป็นที่เรียบร้อย และทำให้ความฝันของ LGBTQ+ ไทยขยับเข้าใกล้ความจริงอีกขั้นหนึ่ง
หลายร่าง ปลายทางเดียวกัน
ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของประเทศไทย มีด้วยกันถึง 4 ฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างกฎหมายทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย
- ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
แม้ร่างกฎหมายจะแตกต่างกัน แต่นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ระบุว่า ทุกร่างล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเหมือนกัน คือเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลเพศเดียวกัน ให้สามารถก่อตั้งครอบครัวได้ เพียงแต่มีวิธีการขั้นตอนที่แตกต่างกันเท่านั้น
“พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือเน้นการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่อนุญาตให้บุคคลสามารถที่จะสมรสกันได้ สิทธิต่าง ๆ ก็มีความเท่าเทียมกันในหลาย ๆ ด้าน แต่ว่าในส่วนของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เป็นเรื่องที่แยก พ.ร.บ. มาอีกฉบับหนึ่ง ไม่ใช่แก้ในส่วนของประมวลกฎหมายแพ่ง คือแยกออกมาเป็นอีกฉบับหนึ่งเฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเลย แต่ยังได้ไม่ถึง 100% ในส่วนของอื่น ๆ ที่ไปพัวพันกับกฎหมายอื่น ก็คือเป็นส่วนที่ยังไม่ได้ และเป็นเรื่องที่กฎหมายอื่นต้องไปแก้ไขต่อไป”
“ง่าย ๆ ก็คือว่าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องของคนสองคนก็ได้เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกฎหมายอื่น ก็อาจจะยังไม่ได้ เช่นเรื่องของการได้รับสัญชาติ สิทธิสวัสดิการของรัฐ หรือว่าการใช้นามสกุล ซึ่งมันจะไปเกี่ยวพันกับกฎหมายอื่น ที่ต้องไปออกกฎหมายหลักก่อน แล้วกฎหมายอื่นถึงจะตามมาได้” นรีลักษณ์เริ่มต้นอธิบาย
ด้านธัญวัจน์ ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนและทำงานเรื่องร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็เปรียบเทียบช่วงเวลาที่ทราบว่าสภาฯ รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่าเหมือนได้รับมงกุฎนางงามจักรวาล มันคือความรู้สึกดีใจจนหลั่งน้ำตาทุกครั้งที่เล่าย้อนกลับไป
“สมรสเท่าเทียมที่เสนอไป มันเป็นชื่อ เป็นศักดิ์ศรีของคำว่า “คู่สมรส” ในเมื่อเราเสนอสมรสเท่าเทียมไป กฎหมายอื่น ๆ ทั้งหมดที่มีคำว่าคู่สมรสหรือมีคำว่าสามี-ภรรยา มันก็จะครอบคลุมสิทธิ์ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายเพศ แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นคำที่บัญญัติใหม่ กฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตอบรับคำว่าคู่ชีวิต ก็ต้องเอากฎหมายเหล่านั้นมาแก้ กว่าที่จะชีวิตของคนเหล่านี้จะได้สิทธิ์เหมือนคู่สมรส” ธัญวัจน์ชี้
“ก็ต้องขอบคุณ ส.ส.ทุกท่านที่โหวต คือมีฝั่งรัฐบาลด้วย และฝ่ายค้านทุกพรรค คือครูคิดว่าสมรสเท่าเทียมจะเปลี่ยนสภาให้เข้าใจความรักมากขึ้น” ธัญวัจน์กล่าว
“ก้าวแรก” ของความเท่าเทียมเพื่อ LGBTQ+
แม้สภาฯ จะรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งหมดแล้ว แต่ในโลกโซเชียลกลับมีกระแส #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต โดยมีการตั้งคำถามว่าการแยกกฎหมายออกมาใหม่ จะสามารถสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคนในสังคมได้จริงหรือไม่ สะท้อนให้เห็นกระแสในสังคมต่อร่างกฎหมายที่จะส่งผลต่อชีวิตและให้สิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
“ในส่วนการที่เราแยก พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันเป็นสิ่งที่จะรองรับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือวัตถุประสงค์ไม่ได้แยกออกมาให้มีความแตกต่าง แต่ด้วยความที่กฎหมายแพ่งที่กำหนดเรื่องสมรส ยึดโยงอยู่กับด้านเพศ คือกำหนดว่าชายและหญิงถึงจะสามารถสมรสกันได้ และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายลูกอีกสิบยี่สิบฉบับ มันจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก” นรีลักษณ์ชี้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเกิดเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นวิถีทางที่ประนีประนอม เป็นไปได้ และมีความรวดเร็วมากกว่า แต่นรีลักษณ์ก็ยืนยันว่า “วัตถุประสงค์ไม่ได้มุ่งหวังจะไปแยกให้เป็นความแตกต่าง แต่วิธีการเดินของเราเป็นก้าวทีละก้าว และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ”
แม้หลายฝ่ายจะชี้ว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นเหมือนก้าวแรกในการให้สิทธิกับกลุ่ม LGBTQ+ แต่ธัญวัจน์ก็แย้งว่า สิทธิและเสรีภาพที่กลุ่ม LGBTQ+ กำลังเรียกร้องคือ “สิ่งที่รัฐพรากจากพวกเราไป ไม่ใช่เราไปขอ ดังนั้น เราขอสิทธิเหล่านี้คืน เราไม่ได้ขอสิทธิเพิ่ม คุณต้องคืนเราทันที จะมาบอกว่าค่อย ๆ เป็นก้าวเล็กก้าวใหญ่มันไม่ได้”
ความฝันที่กำลังจะเป็นจริง
หลังจากที่ร่างกฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่งแล้ว ร่างกฎหมายเหล่านี้ก็ยังต้องเดินทางอีกยาวไกลก่อนที่จะถูกประกาศบังคับใช้ เพื่อให้สิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
“ต่อจากนี้ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการ แล้วก็จะพิจารณารายมาตรา ส.ส.ทุกท่านก็ต้องไล่รายมาตราทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า กว่าจะออกมาได้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลากี่เดือน แต่ว่าออกมาปุ๊บ ก็จะมีอภิปรายวาระสอง ซึ่งใครติดประเด็นตรงไหนก็ให้ลุกอภิปราย แล้วก็ลงมติเพื่อผ่านร่าง พอผ่านร่างเสร็จ ก็จะยื่นให้ ส.ว. ว่าจะพิจารณาผ่านร่างหรือไม่” ธัญวัจน์อธิบายขั้นตอน
“ในขั้นตอนของการพิจารณากฎหมาย พอผ่านสภา ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการ อันนี้ก็จะลงรายละเอียดในดีเทลแล้ว แต่เชื่อว่าสิทธิต่าง ๆ ก็คงไม่น้อยไปกว่าในปัจจุบัน แล้วก็ต้องมากขึ้น เพราะคงไม่มีทางจะถดถอยไปกว่าร่างปัจจุบัน คือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มันเท่ากับสมรสเท่าเทียม แต่เราก็ต้องดูว่าสภาเขาจะเอายังไงเหมือนกัน” นรีลักษณ์กล่าวในส่วนของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต
เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาอีก 3 วาระ และให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ว. ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ต่อไปก็จะให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
“มันไม่แปลกที่เราจะมีกฎหมายสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นฉบับพื้นฐาน ที่ให้ผลกับคนทุกเพศอย่างสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่รัฐต้องให้ประชาชน ส่วนคู่ชีวิต มันก็เหมือนฝรั่งเศสที่เขาอาจจะยังไม่อยากสมรส เขาอาจจะอยากอยู่ก่อนแต่ง แล้วดูแลกันได้ หรืออาจจะเป็นเพื่อนกัน ก็อาจจะเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน คือมันเป็นความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นความรักโรแมนติก อันนั้นคือความหมายของ Civil Partnership ของต่างประเทศ ถามว่าถ้าจะเป็นโมเดลของต่างประเทศ มันก็ไม่แปลกที่จะมีสองฉบับ” ธัญวัจน์ตอบคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต
กฎหมายที่ทุกคนจะได้ประโยชน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสสังคมต่อร่างกฎหมาย LGBTQ+ ของไทยยังเป็นไปในหลายทิศทาง แต่ทั้งนรีลักษณ์และธัญวัจน์ก็มองว่า การมีกฎหมายที่ใช้สิทธิกับกลุ่มคนที่มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างแน่นอน
“แน่นอนว่าการยอมรับในกลุ่มความแตกต่างหลากหลาย อันนี้ต้องมา เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ภายใต้บริบทของความหลากหลาย แล้วเราก็จะสามารถสร้างครอบครัวได้ มีความสุข และใช้ชีวิตอย่างปกติ รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ” นรีลักษณ์กล่าว
“เราจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก การที่เราให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งประเทศเรามีปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด และเศรษฐกิจของเราจะดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด มีตัวอย่างของอเมริกาที่มีสมรสเท่าเทียม มีเงินสะพัดกว่าสามหมื่นล้านดอลลาร์ เพราะอะไร เพราะทุกคนได้รับผลประโยชน์จากการที่ LGBTQ+ ลงทุนกับตัวเอง ลงทุนกับครอบครัวที่เขารัก และคนที่อยู่ในสังคมก็คือคนทุกเพศ แปลว่าคนทุกเพศก็จะได้รับความชื่นมื่น ทั้งเรื่องสิทธิศักดิ์ศรี และเรื่องเศรษฐกิจ” ธัญวัจน์เสริม
แน่นอนว่าขั้นตอนการพิจารณาและผ่านกฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ยังต้องฝ่าฟันไปอีกหลายด่าน เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศที่ยังต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิด แม้จะต้องใช้พลังและแรงใจในการต่อสู้อีกมาก แต่ความฝันที่จะมีสังคมแห่งความเท่าเทียมก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และทุกคนก็คือพลังที่สำคัญในการจะพาสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมเพื่อคนทุกเพศอย่างแท้จริง