คำเตือนจากศรีลังกา ถังแตกสู่ไล่ประธานาธิบดี ประเทศหนี้ท่วมต้องระวัง
การบุกเข้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ค.) จนทำให้นายโกตาบายา ราชปักษา ประกาศยอมลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ที่จะมีผลในวันพุธนี้ (13 ก.ค.) เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองของศรีลังกา
Ishara S. KODIKARA / AFP
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวศรีลังกาออกมาประท้วงและบุกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากต้องทนกับข้าวของราคาแพง ไฟฟ้าดับ และการเข้าคิวรอซื้อน้ำมันมาเติมรถยนต์อย่างสิ้นหวัง เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเหลืออีกแล้วในการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่างๆ เพราะการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นคำเตือนที่สำคัญให้กับอีกหลายประเทศที่ติดหนี้มหาศาล ว่าถ้าหากไม่รีบจัดการเศรษฐกิจให้เข้าร่องเข้ารอยโดยเร็ว ชะตากรรมก็อาจไม่ต่างจากศรีลังกาก็ได้
ฟิตช์ เรตติงส์ เผยเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ว่าขณะนี้มี 17 ประเทศที่ถ้าไม่ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้วก็เสี่ยงมากๆ ได้แก่ ศรีลังกา แซมเบีย เลบานอน ตูนิเซีย กานา เอธิโอเปีย ยูเครน ทาจิกิสถาน เอลซัลวาดอร์ ซูรินาเม เอกวาดอร์ เบลีซ อาร์เจนตินา รัสเซีย เบลารุส และเวเนซุเอลา
ปากีสถานเร่งขอเงินกู้
เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ธนาคารกลางปากีสถานเผยว่ามีเงินสำรอง 20,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อผ่านไป 7 เดือน ซึ่งก็คือเดือน มี.ค. 2565 เหลืออยู่เพียง 11,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เพียงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนดังกล่าว เงินสำรองก็ลดลงไปอีก 4,000 ล้านดอลลาร์ และเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. ปากีสถานเหลือเงินดอลลาร์ที่สำรองเอาไว้พอนำเข้าสินค้าได้อีกเพียง 5 สัปดาห์
Rizwan TABASSUM / AFP
เมื่อต้นเดือน เม.ย. บรรดานักลงทุนเชื่อว่าปากีสถานจะชำระหนี้ที่ถึงเส้นตายในปลายเดือน มิ.ย. ไม่ได้แน่ๆเหตุนี้ทำให้เริ่มมีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลปากีสถาน ขณะเดียวกันดัชนีตลาดหุ้นก็ร่วงลงไปราว 3,5000 จุด หรือเทียบเป็นเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ (144,060 ล้านบาท)
ท้ายที่สุด ปากีสถานก็เลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้มาได้ โดยได้เงินกู้จากจีนมา 2,300 ล้านดอลลาร์ (83,000 ล้านบาท) และอีกจำนวนหนึ่งจากซาอุดีอาระเบีย
นอกจากนี้ก็กำลังเจรจาขอเงินกู้จากกองทุนการเงินโลก (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่มเติมด้วย เพื่อหนีให้พ้นจากภาวะที่เป็นอยู่
กีบอ่อน-เงินเฟ้อลาวพุ่ง
เขยิบมาใกล้ตัวมากขึ้น ลาวก็ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าน่าเป็นห่วงเช่นกัน
ศูนย์สถิติแห่งชาติของลาว เผยเมื่อต้นเดือน ก.ค. ว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ 23.6% หรือสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2543
ราคาสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้นในลาว ไม่ได้เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพียงอย่างเดียว แต่ค่าเงินกีบของลาวก็อ่อนค่าอย่างหนักเช่นกันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ตั้งแต่การขาดรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงโควิด การขาดดุลการค้าต่อเนื่อง เรื่อยไปถึงกระแสเงินไหลออกไม่หยุด
เหตนี้ทำให้การนำเข้าสินค้าหลายอย่างต้องใช้เงินมากขึ้น อย่างเช่น น้ำมัน
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้แอปพลิเคชัน TikTok หลายบัญชี โพสต์คลิปที่มีคนจำนวนมากรอเติมน้ำมันในปั๊ม บางคลิปแถวต่อยาวออกมาบนถนน
สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 รายงานเมื่อเดือน มิ.ย. ว่ามีรถยนต์ทะเบียนลาวหลายคันข้ามชายแดนไทยมาเติมน้ำมันก่อนกลับประเทศไป เพราะราคาถูกกว่า และปั๊มหลายแห่งในฝั่งลาวปิดให้บริการเพราะขาดแคลนน้ำมัน