สื่อมวลชนรับคำท้า “ชัชชาติ” ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ​

สื่อมวลชนรับคำท้า “ชัชชาติ” ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ​

สื่อมวลชนรับคำท้า “ชัชชาติ” ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ​
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชิญชวนสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม "Kick off ผู้ว่าฯ ท้าสื่อ ปลูกต้นไม้ล้านต้น" เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ 
  • สื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมหลายสำนัก เช่นเดียวกับ Sanook ที่เล็งเห็นความสำคัญของต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในเมือง 
  • สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ทั้งยังสามารถเชิญชวนให้คนมาปลูกต้นไม้ หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เมืองหลวงกลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

หลังจากที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เชิญชวนสื่อมวลชน ให้เข้าร่วมกิจกรรม “Kick off ผู้ว่าฯ ท้าสื่อ ปลูกต้นไม้ล้านต้น” ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ก็มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักที่ตกลง “รับคำท้า” และตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ว่าฯ คนใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างล้นหลาม ทั้งนี้  Sanook ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลงจอบปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ด้วย 

โครงการปลูกต้นไม้เพื่อประชาชนทุกคน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นของชัชชาติ จะถูกมองว่าเป็นโครงการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ก็มีหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้เพื่อร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว

“มันเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนในกรุงเทพฯ ที่จะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น และโครงการปลูกต้นไม้ไม่ใช่โครงการระยะสั้น มันเป็นโครงการระยะยาว เราเห็นต้นไม้สูง คือคนในอดีตปลูกทั้งนั้นแหละ เมื่อ 10 - 20 ปีก่อน ถ้าเราไม่ทำวันนี้ อนาคตจะไม่มีต้นไม้ให้ลูกให้หลานเรา ที่จะให้ร่มเงา ที่จะกรองฝุ่น ที่จะดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้เรา” ชัชชาติกล่าว 

“ตอนนี้เรามีปัญหา pm2.5 ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวเยอะ มีต้นไม้เยอะ มันก็จะช่วยกรองฝุ่น ผ่อนหนักเป็นเบา ฝุ่นที่มากก็จะน้อยลง อันที่สองคืออากาศร้อนมาก และอย่างที่เรารู้กันว่า มันมีการใช้แอร์คอนดิชั่นเยอะ แล้วก็มีความร้อนจากรถยนต์ จากแอร์เยอะ ถ้าเรามีต้นไม้ในเมืองเยอะ มันก็จะทำให้อุณหภูมิของเมืองลดลง” ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” ผู้ดำเนินรายการจาก Voice TV ชี้ 

ไม่เพียงแต่ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองเท่านั้น แต่ต้นไม้ยังมีคุณค่าต่อจิตใจของคนเมืองด้วย โดยฐปณีย์ เอียดศรีชัย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ระบุว่า การมีพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มากขึ้น มีต้นไม้เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนในเมือง เพราะการได้เห็นต้นไม้สีเขียวที่สวยงาม ก็ทำให้รู้สึกมีความสุขได้ เช่นเดียวกับนิธิศ นาเจริญ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Workpoint TODAY ที่มองว่าต้นไม้คือพื้นที่แห่งความสุขสำหรับคนทั่วโลก การได้มองเห็นต้นไม้สีเขียวก็ช่วยให้รู้สึกสบายใจ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประชาชนมีปอดที่ดีมากขึ้น 

“เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเห็นบรรยากาศที่มีต้นไม้ บางครั้งเราทำงานมาเหนื่อย ๆ การได้เห็นแค่ต้นไม้สวย ๆ มันก็รู้สึกมีความสุขแล้ว” ฐปณีย์กล่าว 

พื้นที่สีเขียวคือคุณภาพชีวิตที่ดี 

“เมืองใหญ่ ๆ ในโลกที่เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชน เขาเน้นเรื่องการมีพื้นที่สีเขียวในเมืองมาก ๆ หลายเมืองถึงกับมีกฎหมายมาเลยด้วยซ้ำ ว่าขนาดเมืองเท่านี้ ประชากรเท่านี้ มันต้องมีพื้นที่สีเขียวเท่าไร ประเทศไทยเราหรือว่ากรุงเทพฯ ของเรา มีสวนอยู่บ้าง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เราก็ยังเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ อัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะต่อประชากร หรือต่อพื้นที่ มันยังมีน้อยอยู่มากเลย” วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Standard ชี้ 

การสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ของชัชชาติ มีวัตถุประสงค์ที่จะลดฝุ่นและมลพิษ เช่นเดียวกับการสร้างร่มเงาในพื้นที่ต่างๆ  นอกจากนี้ยังต้องการส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองนั่นเอง 

“พื้นที่สีเขียว ถ้าว่ากันตามจริง ความหมายคือมันเป็นพื้นที่ แต่จริง ๆ แล้วในนัยหนึ่ง มันคือคุณภาพชีวิต ซึ่งมันเป็นสิ่งที่คนในเมือง ไม่ว่าจะเมืองขนาดไหนก็ตาม มันควรมี เทียบเท่ากับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นในชีวิต” ศกุนตลา แย้มปิ๋ว บรรณาธิการบริหารจาก Urban Creator แสดงความคิดเห็น 

“พื้นที่สีเขียวจะเป็นพื้นที่ให้คนมาพักผ่อน มาเดินเล่น มาใช้เวลาว่าง แล้วก็จะให้อากาศที่ดีกับเมืองด้วย เมืองก็จะได้สวยขึ้น คือนอกจากเราจะได้ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า หรือไปเดินเล่นริมถนนแล้ว เราก็จะมีพื้นที่ที่เราได้มาใช้ชีวิต มาใช้วันว่าง ๆ ของเราในการพักผ่อนในวันหยุดมากขึ้น” คมกฤษ ดวงมณี ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Sanook กล่าว 

บทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างพื้นที่สีเขียว 

กิจกรรม “Kick off ผู้ว่าฯ ท้าสื่อ ปลูกต้นไม้ล้านต้น” ในครั้งนี้ ชัชชาติได้เชิญชวนสื่อมวลชนจากหลายสำนักมาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้ระบุว่า สื่อมวลชนมีพลังในการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับประชาชน เพราะฉะนั้น การมีสื่อมวลชนมาร่วมทำกิจกรรมนี้จึงถือเป็นพลังบวก ที่นอกจากจะช่วยเรื่องการให้ข้อมูลเรื่องต้นไม้และพื้นที่สีเขียวแล้ว สื่อมวลชนยังได้สร้างความหวังให้กับเมืองอีกด้วย 

“มันเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อสามารถทำหน้าที่ในการสื่อสาร หรือรณรงค์ให้ประชาชนให้ความสำคัญเรื่องของการปลูกต้นไม้หรือสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งจริง ๆ แล้ว งานทางด้านข่าวสิ่งแวดล้อมก็คืองานหนึ่งที่สื่อเราทำ นอกเหนือจากการที่เราทำงานตรวจสอบ การเฝ้าระวัง หรือการรายงานผลกระทบในสิ่งที่ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เราสามารถทำเรื่องดี ๆ ได้ ซึ่งทำเรื่องดี ๆ ไม่ได้หมายความว่า คือการทำแค่ข่าวอย่างเดียว เราก็คือคน คือประชาชนที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่สีเขียว การปลูกต้นไม้ได้ด้วย ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สื่อทำได้” ฐปณีย์ชี้ 

“สื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ หรือคนไทยชอบปลูกต้นไม้ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง อย่างเช่นไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรหลาย ๆ อย่าง มันทำให้การปลูกต้นไม้กลายเป็นปัจจัย หรือกลายเป็นกิจกรรมที่เอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ถ้าสื่อมวลชนสามารถช่วยให้ข้อมูลว่า ถ้าแต่ละคนปลูก ต้นไม้มันให้อะไรกับเมือง กับคนบ้าง ผมว่ามันจะช่วยโน้มน้าวจูงใจให้คนอยากลงมือปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ในเมืองกันมากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระหรือหน้าที่ของผู้บริหารเมืองอย่างเดียว” วงศ์ทนงเสริม 

ด้านคำ ผกา ก็ระบุว่า สื่อมวลชนมีส่วน “สำคัญ” ในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ทั้งยังสามารถเชิญชวนให้คนมาปลูกต้นไม้ หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เมืองหลวงกลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง 

“สื่อมวลชนอาจจะไม่ได้มีส่วนในการสร้างพื้นที่สีเขียวได้โดยตรง แต่สื่อมวลชนสามารถนำเสนอว่า เมืองที่เขียวขึ้น เมืองที่มีต้นไม้สวย ๆ เมืองที่ให้ความสำคัญกับการจัดวางพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามหลักภูมิทัศน์ จะทำให้คนที่อยู่ในเมืองมีความสุขขึ้น แล้วก็อยากให้สื่อมวลชนมีส่วนในการให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องภูมิทัศน์ เกี่ยวกับเรื่องสวน เกี่ยวกับเรื่องการออกแบบสวนสาธารณะ มากกว่าที่จะพูดคำว่าพื้นที่สีเขียวโดยไม่มีบริบท” คำ ผกา ฝากทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook