ไทยพบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง 1 ราย หลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน
ไทยพบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง 1 ราย กลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดหลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน
(19 ก.ค.65) เพจ Center for Medical Genomics เผยข้อมูล พบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แล้ว 1 รายในประเทศไทยที่จังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและ upload ขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565
มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 90 ตำแหน่ง
พบ BA.2.75 อุบัติขึ้นครั้งแรกในอินเดีย ขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บตัวอย่างถอดรหัสพันธุกรรมได้ 338 ราย (19/กค/2565)
ถามว่า BA.2.75 หลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน ดื้อยา หรือไม่?
BA.2.75 กลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ก่อนได้ดี และดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม และควรเลือกใช้ยาแอนติบิดีสังเคราะห์ (monoclonal antibody) ให้สอดคล้องกับโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่
ที่น่าสังเกตคือการระบาดของ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย, ประเทศต้นกำเนิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 มีการระบาดไม่ยาวนาน ขณะนี้ใกล้จะสงบลงแล้ว อาจสืบเนื่องมาจากในอินเดียมีการระบาดใหญ๋ของ BA.2 มาก่อน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจทำให้การระบาดของ BA.2.75 ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.2 ไม่ขยายวงกว้าง ประเทศไทยเองก็มีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อนเช่นเดียวกัน
ประเทศสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 สองรายแรกเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 17 กค 2565 แยกกักตัวเอง ไม่มีอาการใดๆ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงกับประชาชนว่ายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในขณะนี้ที่แสดงให้เห็นว่า BA.2.75 มีการติดเชื้อและอาการที่รุนแรง (virulence or severity) แตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้านี้