อมรัตน์ มอบกระจกให้ประยุทธ์ ลั่นจะได้สะท้อนหน้าคนก่อกบฎ-ไม่รู้ประวัติศาสตร์
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มอบกระจกให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) เพื่อสะท้อนใบหน้าของผู้ที่นางอมรัตน์กล่าวเป็นผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง จากการรัฐประหาร และไม่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยการเชิดชูขบวนการกบฎบวรเดช
"ดิฉันมีสิ่งสุดท้ายค่ะที่ดิฉันอยากจะมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านท่านประธาน สิ่งนั้นคือกระจก กระจากบานนี้ค่ะ" นางอมรัตน์ กล่าว
"เพราะท่านปิดช่องคอมเมนต์ในเพจนายกฯ ในเพจชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะสะท้อนความรู้สึกไปยังท่านได้ ดิฉันอยากจะบอกว่ากระจกบานนี้เวลาที่ท่านชี้หน้าใครบอกว่าก่อความวุ่นวายความไม่สงบ ท่านมองที่กระจกบานนี้ค่ะ เวลาที่ท่านเที่ยวชี้หน้าใคร บอกว่าเขาไม่มีมารยาทไม่รักชาติ มองที่กระจกบานนี้ และเวลาที่ท่านว่าใครว่าไม่อ่านประวัติศาสตร์ ท่านก็มองที่กระจกบานนี้ ทั้งหมดคนในกระจกค่ะ"
คำพูดนี้เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายถึงการเปลี่ยนชื่อหรือทำลายสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารเมื่อปี 2557 ตั้งแต่การเปลี่ยนหน้าบันของอาคารที่ว่าการอำเภอพาน จ.เชียงราย จากรูปพานใส่รัฐธรรมนูญ เป็นตราครุฑ เรื่อยมาถึงการที่มีชายหัวเกรียนแอบเปลี่ยนนำป้ายที่เขียนว่า สะพานท่าราบ มาทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม ใกล้รัฐสภา เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน
"ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ชอบสั่งสอนให้ประชาชนไปศึกษาประวัติศาสตร์ ถามจริงๆ ค่ะ แล้วตัวท่านเองได้เคยศึกษาประวัติศาสตร์บ้างหรือไม่คะ ถามจริงๆ ท่านไม่ทราบประวัติศาสตร์การเมืองไทยเหรอ ว่าเหตุการณ์กบฎบวรเดชในครั้งนั้น ผู้นำกองทัพร่วมมือกับประชาชนมาปราบปรามกบฎบวรเดชจนสำเร็จเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและเพื่อปกป้องประชาธิปไตย" นางอมรัตน์ กล่าว
"แต่ พล.อ.ประยุทธ์ นายทหารนอกรีต กลับนำเอามา เอาชื่อกบฎมาเชิดชู นอกจากจะฉีกรัฐธรรมนูญแล้วยังเอาชื่อกบฎมาเชิดชู และมีพฤติกรรมมุ่งทำลายสัญลักษณ์ของการสร้างประชาธิปไตยตลอดมา"
"ล่าสุดเมื่อวานนี้ตอนบ่ายที่สภาแห่งนี้ค่ะท่านประธาน พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงพฤติกรรมชูแขนขึ้นสุด แอ่นอก ยิ้มร่า รับว่าตัวเองก่อการกบฎคนเดียว การหัวเราะเรื่องการรัฐประหารในสภาแห่งนี้เมื่อวานเย็น คือการไร้ยางอาย ไม่มีวุฒิภาวะ ทำอะไรไม่ถูกกาลเทศะ"
"ถ้าปล่อยให้ผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนนี้ครองอำนาจต่อไป วันหนึ่งแม้นแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินของพวกเราก็จะไม่มีเหลือ และดิฉันฝากด้วยนะคะชื่อถนนหมายเลข 1 จากกรุงเทพฯ ไปสุดที่เชียงราย ชื่อถนนพหลโยธิน โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลพหลพลยุหเสนา ช่วยกันดูด้วยนะคะ อย่าให้หายไปอีก"
นอกจากประเด็นเกี่ยวกับความพยายามลบมรดกของคณะราษฎรและหันมาเชิดชูขบวนการกบฎบวรเดชแล้ว นางอมรัตน์ ยังอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าละเลยหรือจงใจละเลยให้เกิดการทุจริตในกระบวนการประมูลการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกองทัพด้วย
ผลาญ 60 ล้านสร้างแท่นอนุสาวรีย์
นางอมรัตน์อภิปรายเรื่องแรกเกี่ยวกับการใช้งบประมาณถึง 60 ล้านบาท เพียงเพื่อสร้างแท่นอนุสาวรีย์ที่ค่ายภูมิพล จ.ลพบุรี ที่สื่อมวลชนหลายสำนักรายงาน แต่กลับถูกภาครัฐโจมตีว่าเป็นข่าวบิดเบือน พร้อมอ้างว่าเงิน 60 ล้านบาทนั้นมาจากการบริจาคของประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน
ส.ส. รายนี้กล่าวต่อไปว่า ตนจึงไปค้นดูงบการเงินของกองทัพบกของปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 พบว่ามีได้รับบริจาคเพียงแค่ 3 ล้านบาท ส่วนของปีก่อนหน้าก็มียอดเงินบริจาคเพียง 2.3 ล้านบาท เท่านั้น
นางอมรัตน์ พูดเสริมว่า ตนไปค้นเอกสาร บก.01 ที่แสดงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและราคากลางของโครงการดังกล่าว พบว่ามีข้อความว่า เงินเกือบ 60 ล้านบาทนี้งบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2564
"ถ้ามันเป็นเงินที่มาจากงบประมาณของรัฐ ก็เท่ากับว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาลเอาข่าวปลอมจากกองทัพบกมาเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเงิน 60 ล้านบาทนี้มาจากการบริจาคใช่หรือไม่ เป็นเฟกนิวส์ซ้อนเฟกนิวส์ใช่หรือไม่" นางอมรัตน์ กล่าว
"แล้วถ้าเงินเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 64 ก้อนนี้ไม่ได้มาจากเงินของรัฐ แต่มาจากเงินบริจาคจริงๆ ดิฉันถามว่า การที่เสามารถเอาเงินบริจาค... ดิฉันสงสัยว่าเงินบริจาคมากมายขนาดนั้น กองทัพบกเก็บไว้ในปี๊บที่ไหนคะ ทำไมไม่อยู่ในบัญชี แล้วทำไมดิฉันไม่เคยเห็นกองทัพประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเข้าบัญชีเลย นี่มันโครงการพิเศษอะไรกันคะ ท่านประธาน"
บ้านพักบอสทัพเรือ 65 ล้าน เข้าพื้นที่ก่อนประมูล
โครงการต่อไปที่นางอมรัตน์ยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าละเลยหรือจงใจละเลยให้เกิดการทุจริต คือ โครงการบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือ มูลค่า 65 ล้านบาท ที่รวมตั้งแต่ขั้นตอนรื้อถอน
นางอมรัตน์ กล่าวว่า กองทัพเรือประกาศราคากลางเมื่อเดือน มี.ค. 2562 โดยมีบริษัท 3 แห่งยื่นซอง ก่อนได้ผู้ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ปีเดียวกัน และเซ็นสัญญาก่อสร้างอีก 2 วันถัดมา
แต่ภาพถ่ายดาวเทียมจากบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังของสหรัฐ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562 กลับพบว่าบ้านพักหลังเดิมถูกรื้อถอนไปแล้ว และวันที่ 8 เม.ย. ปีเดียวกันมีการปรับพื้นที่เพื่อให้พร้อมต่อการก่อสร้างแล้วด้วย ส่วนภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 ก.ค. พบว่าโครงการนี้สร้างเกือบเสร็จแล้ว
"สรุปว่ากองทัพเรือให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานก่อนจะเซ็นสัญญาล่วงหน้าถึง 3 เดือนเศษเป็นอย่างน้อยค่ะ ท่านประธาน" นางอมรัตน์ กล่าว
"30 ก.ค. นี้สร้างเกือบจะเสร็จแล้วนะ โครงการระดับ 65 ล้าน เซ็นสัญญากัน 2 เดือน พอ 30 ก.ค. สร้างเกือบจะเสร็จแล้ว ดิฉันถามว่าท่านเสกหรือว่าสร้างคะ แล้วอย่างนี้จะเปิดซองประกวดราคาไปทำไม"