ศาลเชียงใหม่ ยกฟ้องบ้านป่าแหว่ง ชี้อยู่นอกเขตป่า-ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง

ศาลเชียงใหม่ ยกฟ้องบ้านป่าแหว่ง ชี้อยู่นอกเขตป่า-ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง

ศาลเชียงใหม่ ยกฟ้องบ้านป่าแหว่ง ชี้อยู่นอกเขตป่า-ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีบ้านป่าแหว่ง เมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) โดยระบุว่าการจัดสรรที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทำขึ้นอย่างถูกกฎหมาย

คำพิพากษานี้อธิบายเหตุผลที่ยกฟ้องใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ที่ดินเนื้อที่กว่า 147 ไร่ดังกล่าว อยู่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติหรือไม่
  • กรมธนารักษ์มีอำนาจอนุญาตจัดสรรที่ดินให้สำนักงานศาลยุติธรรมสร้างบ้านพักหรือไม่
  • การก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวทำตามกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ 

อยู่นอกเขตป่าสงวน-ธนารักษ์มีอำนาจ

คดีนี้ศาลปกครองเชียงใหม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่บางส่วนเป็นที่สูงชัน อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาททั้งแปลงอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพและนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

เหตุนี้ทำให้ไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2504 อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์

ทุกขั้นตอนทำตามกฎหมาย

นอกจากนี้ แม้มีประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2535 ให้ทำรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ให้รับฟังความเห็นของประชาชน หากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่คณะรัฐมนตรีเคยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

ศาลระบุอีกว่า เมื่อมีข้อยกเว้นดังกล่าว การที่ร้องให้ศาลนำมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น มาพิจารณาเรื่องนี้ด้วย จึงรับฟังไม่ได้

ส่วนข้ออ้างว่าการก่อสร้างอาคารของผู้ร้องสอดดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อลำห้วยแม่ชะเยือง ศาลก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook