สุพันธุ์-ศิธา กระทุ้งรัฐ! เปิดประเทศแค่ 3 เดือน แต่รีดภาษีผู้ประกอบการเต็มเหนี่ยว
1 ส.ค. 2565 ครบรอบ 3 เดือนที่รัฐบาลเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยว เป็นเหมือนสัญญาณที่ดีที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากปิดประเทศเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเศรษฐกิจแทนที่จะฟื้นตัวแต่กลับต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยทั้งจากเงินเฟ้อ สงคราม และวิกฤตพลังงาน ซึ่งรวมมาเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้ทั้งหมดในขณะที่เพิ่งเริ่มกลับมาตั้งไข่ เปิดกิจการได้อีกครั้ง ทีมข่าว Sanook ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการถนนข้าวสารในเวทีเสวนา "ไทยสร้างไทย x ธุรกิจท่องเที่ยว: ฟังข้าวสารอย่างเข้าใจ-เที่ยวไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก"
ภาษีจัดเต็ม แต่นักท่องเที่ยวเหลือแค่ 30%
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สะท้อนว่า ตอนนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีแค่ 30% เมื่อเทียบจากช่วงก่อนโควิด แต่ยังมีกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการค้าขายอยู่ เช่น ระเบียบ ศบค. ที่กำหนดให้ร้านในห้องแอร์ขายได้ 50% ร้านข้างนอกห้องแอร์ 75% หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ รวมไปถึงเรื่องภาษีที่ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีสรรพสามิตร 10% จากยอดขาย ภาษีป้ายและภาษีโรงเรือนอีก 100% ทั้งที่ยังเพิ่งเริ่มกลับมาค้าขายและไม่มีลูกค้าเยอะเท่าเดิม รัฐทำตัวเป็นผู้ปกครองที่ไม่ได้มาพัฒนาหรือหาทางรอดให้ผู้ประกอบการในวันที่เพิ่งเริ่มกลับมาตั้งตัว อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนมุมมองลดกฎหมายที่เป็นภาระหรืออุปสรรคในการทำมาหากิน และช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้แข็งแกร่งพอที่จะไปสู้กับต่างชาติได้
หาบเร่หาย สะเทือนภาคอุตสาหกรรม
นางญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยกรุงเทพมหานครและถนนข้าวสาร เล่าว่าตั้งแต่ปี 2559 ที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบทางเท้า "ไล่-รื้อ-เลิก" ทำให้หาบเร่แฝงลอยที่เป็นตัวกระจายสินค้าเริ่มหายไป พอนานๆ เข้าก็กระทบไปยังภาคอุตสาหกรรม โรงงานก็ปิดตัว แถมยังเจอกับล็อกดาวน์เพราะโควิด ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กแบบหาบเร่แฝงลอยยิ่งเจ็บหนัก ดังนั้นปัญหาสำคัญคือหลังเปิดประเทศหาบเร่แฝงลอยต้องการทุนเพื่อกลับมาต่อยอดธุรกิจ แต่ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ไม่มีใบอนุญาต ญาดาเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อกระจายเม็ดเงินให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและหาบเร่แฝงลอย โดยอาจจะใช้ใบอนุญาตใช้พื้นที่ตั้งแฝงขายสินค้าจาก กทม. ไปใช้กู้เงิน เช่นเดียวกับธุรกิจ SME ที่ใช้สัญญาเช่าไปแปลงเป็นทุนผ่านกระทรวงพาณิชย์
ขณะเดียวกันการเปิดเสรีกัญชาก็กระทบกับนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวและผู้ค้า จึงอยากเสนอให้จัดโซนการสูบ เพราะแม้ว่าจะเจรจากับผู้ค้ากัญชาให้อยู่ในโซนที่ควบคุมได้ แต่ไม่สามารถควบคุมผู้ซื้อได้ จึงอยากเสนอให้รัฐมีการกำหนดจุดสูบกัญชา และบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดเพื่อไม่ให้กระทบนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ
ข้าวของแพงซ้ำเติมผู้ประกอบการ
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร สะท้อนว่าปัญหาสำคัญตอนนี้คือวัตถุดิบต้นทุนขึ้นราคาแพงเหมือนซ้ำเติมผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็น หมู ผัก น้ำมัน แก๊ส โดยเฉพาะค่าไฟที่เป็น 8% ของต้นทุน
รองลงมาคือ ขาดแรงงานมีฝีมือ เช่น แม่บ้านหรือพนักงานร้านอาหารที่เชี่ยวชาญ เพราะบางอาชีพคนไทยไม่ทำ ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว แต่พวกเขายังเข้าประเทศมาไม่ได้ ส่วนแรงงานไทยหลายคนก็ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและยังไม่กลับมา กทม. เพราะค่าเช่าที่พักและค่าครองชีพสูง
นอกจากนี้โรงแรมขนาดเล็กยังติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตจาก พ.ร.บ.โรงแรมฯ ไม่สามารถกลับมาเปิดได้ หรือบางเจ้าก็โดนเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะราคาแพง แถมยังทำเรื่องกู้ก็ไม่ได้เพราะโรงแรมเปิดไม่ได้ โฮลเทลตอนนี้กลับมาเปิดยังไม่ถึง 50%
เยือนถนนข้าวสาร จวกรัฐแจกแต่ไม่สร้างรายได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย และ น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย นำทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรค มาเดินสำรวจสภาพเศรษฐกิจในถนนข้าวสาร
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า รัฐต้องปรับมุมมอง ราชการตอนนี้ต้องเป็นนักพัฒนา มาช่วยผู้ประกอบการให้อยู่รอดให้ได้ ตอนนี้ตลาดหาย แต่หนี้ไม่ลด รายได้จากการท่องเที่ยวก็หายไป พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายที่จะออก พ.ร.ก. 1 ฉบับเพื่อแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน และต้องลดภาษีให้ผู้ประกอบการกลับมาได้ก่อน พร้อมกับอัดฉีดเงินเพิ่มทุนผู้ประกอบการเข้าไปอีก แต่ไม่ใช่สักแต่ว่าแจกเงิน เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 อีก 800 บาท แต่ไม่ทำให้ประชาชนมีหนทางสร้างรายได้
ดังนั้นช่องทางในการหารายได้ คือ ต้องหาทางเพิ่มนักท่องเที่ยว กระตุ้นคนไทยเที่ยวไทย และปรับกฎกติกาการเข้าประเทศให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาง่ายขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบ E-government ให้รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือประชาชนได้ง่ายขึ้น ลดการเก็บส่วย รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยจะไม่ต้องจ่ายส่วนต่างให้แพลตฟอร์มต่างประเทศ
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ