แอมเนสตี้เปิดรายงานสรุปชะตากรรมนักโทษการเมืองในเมียนมา พบถูกทรมาน-คุมตัวโดยพลการ
Highlight
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสรุปชื่อว่า “15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี” (15 Days Felt like 15 Years) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์อันโหดร้ายของประชาชนเมียนมาที่ต่อต้านการรัฐประหาร
- รายงานดังกล่าวระบุว่า ประชาชนชาวเมียนมาที่ถูกควบคุมตัว ต้องเผชิญกับการถูกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการก่ออาชญากรรมด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเจ้าหน้าที่
- เลขาธิการแอมเนสตี้เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวประชาชนโดยเร่งด่วน และเรียกร้องมาตรการกดดันจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสรุปชื่อว่า “15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี” (15 Days Felt like 15 Years) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์อันโหดร้ายของประชาชนเมียนมาที่ต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อปี 2564 และถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทางการ รวมถึงการสอบปากคำ การคุมขัง และหลังจากได้รับการปล่อยตัว
รายงานสรุปดังกล่าว จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์อดีตผู้ถูกควบคุมตัว ทนายความของนักโทษ และผู้เชี่ยวชาญ รวม 15 ครั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2565 และการทบทวนรายงานใหม่กว่า 100 ฉบับ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ในเรือนจำและเจ้าหน้าที่ในสถานที่สอบปากคำของทางการเมียนมาได้ควบคุมตัวบุคคลที่ต่อต้านการทำรัฐประหารในปี 2564 อย่างต่อเนื่อง และทรมานบุคคลเหล่านั้น รวมทั้งมีการปฏิบัติที่โหดร้ายและเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ รายงานสรุปฉบับนี้ยังระบุว่า หน่วยงานทหารได้ละเมิดกฎหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการจับกุมและควบคุมตัว ทั้งการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ การห้ามไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อกับครอบครัวและทนายความ การบังคับให้รับสารภาพ ไปจนถึงการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น การบังคับให้สูญหาย และการตอบโต้สมาชิกในครอบครัว รวมถึงการตอกย้ำความรุนแรงของสถานการณ์ จากการประหารชีวิตประชาชน 4 คน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ยังมีผู้ถูกคุมขังในแดนประหารอีกกว่า 70 คน ในเมียนมา โดย 41 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย
การทรมานร่างกายและจิตใจ
งานวิจัยของแอมเนสตี้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำกระทำความรุนแรงต่อผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งการเตะ ตบ และทุบตีด้วยสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพานท้ายปืน สายไฟ และกิ่งของต้นปาล์ม โดยอดีตผู้ถูกควบคุมตัวที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้หลายคนสังเกตเห็นว่า ผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ มีร่องรอยบาดเจ็บที่เห็นได้ชัดเจนบนร่างกาย ทั้งรอยเลือด แขนขาหัก และใบหน้าบวมปูด ขณะที่นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า เขาเห็นตำรวจเอาหัวของเพื่อนเขากระแทกกับกำแพง ใช้ไม้กระบองช็อตไฟฟ้าที่อวัยวะเพศ และขู่จะขว้างระเบิดใส่เขา
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ผู้หญิงคนหนึ่งได้ยินเสียง ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารเอาหัวของผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่ง จุ่มลงไปในถังน้ำ และยังใช้กระบองช็อตไฟฟ้าหลายครั้งระหว่างการสอบปากคำ และผู้ถูกควบคุมตัวคนหนึ่งอ้างว่า ตนเองตกเป็นเหยื่อการทรมานทางจิตใจ ทั้งการขู่ว่าจะฆ่าและข่มขืน เพื่อบังคับให้รับสารภาพ หรือเพื่อรีดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่อีกคนหนึ่งเคยได้รับพัสดุบรรจุระเบิดปลอม
การก่ออาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมด้วยเหตุแห่งเพศ
รายงานสรุป “15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี” (15 Days Felt like 15 Years) ยังระบุด้วยว่า มีกรณีการทำให้อับอายและการตรวจค้นร่างกายที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจถือเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวเป็นคนข้ามเพศ
ผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นหญิงข้ามเพศคนหนึ่งเปิดเผยกับแอมเนสตี้ว่า เธอถูกจับและถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนกันยายน 2564 เนื่องจากต้องสงสัยว่าเข้าร่วมฝึกยุทธวิธีป้องกันตนเอง เธอถูกนำตัวไปที่ศูนย์สอบปากคำที่พระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งขึ้นชื่อและมีรายงานว่าถูกใช้เป็นสถานที่ทรมาน โดยเธอเล่าว่า กว่า 3 วันที่อยู่ที่นั่น เธอถูกเจ้าหน้าที่ใช้วัตถุแหลมคมขูดที่หัวเข่าของเธอจนเป็นแผล จากนั้นจะฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างแผลใส่บนแผลที่มีเลือดไหล และไม่ได้รับประทานอาหารหรือน้ำเลย
นอกจากนี้ ผู้ถูกควบคุมตัวรายนี้เล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามว่าเธอได้ผ่าตัดแปลงเพศหรือยัง จากนั้นก็จับเธอเปลื้องผ้า มองดูร่างกายที่เปลือยเปล่า และพูดจาล้อเลียนเธอ
ผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งก็ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ด้วยว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่นๆ ต้องเผชิญกับการตรวจร่างกายและอวัยวะในร่มผ้าอย่างละเอียด เพื่อ “ให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นชายหรือหญิงกันแน่”
การจับกุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รายงานสรุปของแอมเนสตี้เปิดเผยว่า การจับกุมตัวประชาชนมักจะเกิดขึ้นระหว่างการบุกตรวจค้นในเวลากลางคืน โดยทหารและตำรวจจะพังประตูเข้าไปในบ้าน ทุบตีคนในบ้าน ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งโทรศัพท์และโน้ตบุ๊ก รวมทั้งของมีค่าต่างๆ
นอกจากนี้ แกนนำผู้ชุมนุมคนหนึ่งให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า เธอถูกจับระหว่างเดินทางในรถโดยสารไปเขตมัณฑะเลย์ และถูกเจ้าหน้าที่ตบหน้า ถูกใส่กุญแจมือ ถูกปิดตา และถูกนำตัวไปยังสถานที่ที่ไม่มีผู้ใดทราบข้อมูล ในระหว่างการสอบปากคำกว่า 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ซึ่งสวมรองเท้าคอมแบท จะเฆี่ยนตีและเตะเธอ และขู่จะฆ่าเธอหลายครั้ง
ด้านทนายความก็ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า ทนายต้องประสบกับปัญหาในการพยายามหาที่ควบคุมตัวลูกความของตนเอง และต้องจ่ายสินบนหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง นอกจากนี้ เรือนจำที่คุมขังนักโทษการเมืองยังแออัด โดยผู้ถูกควบคุมตัวคนหนึ่งระบุว่า ตนต้องอยู่รวมกับคนถึง 50 คน ในห้องขังที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคนเพียง 10 คนเท่านั้น และผู้ถูกควบคุมตัวยังเล่าว่า พบแมลงและหนอนในอาหารในเรือนจำด้วย
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า การปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่มีเจตนาเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชน และบังคับให้ประชาชนเลิกต่อต้านรัฐประหาร ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะประชาชนชาวเมียนมายังคงไม่ยอมแพ้
“กองทัพเมียนมาต้องถือว่า การปล่อยตัวประชาชนหลายพันคนที่ยังคงถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และปล่อยให้พวกเขากลับไปอยู่กับครอบครัว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพเมียนมา โดยจะต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก และใช้มาตรการคว่ำบาตร” เลขาธิการแอมเนสตี้กล่าว
นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้จับกุมประชาชนกว่า 14,500 คน และสังหารอีกกว่า 2,000 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) อย่างไรก็ตาม แม้ประสบการณ์จากการควบคุมตัวจะส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรงต่อผู้ที่รอดชีวิตมาได้ แต่นักกิจกรรมหลายคนก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารต่อไป