ไม่ใช่แค่ไต้หวัน! ย้อนวีรกรรมเด็ด แนนซี เพโลซี ผู้กล้าฟัดกับจีนมาทุกยุค
การเยือนไต้หวันตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. ของนางแนนซี เพโลซี เรียกความสนใจจากผู้คนจำนวนมากรอบโลกถึงความกล้าและไม่ยอมจำนนต่อคำขู่ของจีน ที่กล่าวหาว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ 4 สมัย รายนี้ ละเมิดอธิปไตยของประเทศ และจะตอบโต้สหรัฐอย่างสาสม
ความเด็ดเดี่ยวดังกล่าวของนางเพโลซี ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายสิบปีแล้ว
บุกเทียนอันเหมิน อาลัยวีรชนประชาธิปไตย
หลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผูุ้แทนราษฎร (ส.ส.) รัฐแคลิฟอร์เนีย เพียง 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่งของจีน
หลังจากนั้นอีก 2 ปี หรือปี 2534 นางเพโลซีก็เดินทางไปกับคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐไปเยือนประเทศจีน ระหว่างนั้น นางเพโลซและ ส.ส.สหรัฐ อีก 2 คน นำป้ายที่มีข้อความอาลัยแด่ผู้ที่เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยไปถือ ณ ที่เกิดเหตุ จนถูกเจ้าหน้าที่เชิญให้ออกไปจากจุดดังกล่าว
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลจีนอย่างมาก
CNN
นางเพโลซีเผยกับ เดอะ บัลติมอร์ ซัน ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนบอกกับพวกตนตอนประชุมลับว่าจีนมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่บอกพวกตนเลย
ต้านสัมพันธ์การค้าจีน
ทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่นางเพโลซีมักวิจารณ์ผู้นำในพรรคเดโมแครตที่ตัวเองสังกัดในประเด็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อจีน และการสนับสนุนให้จีนเข้าร่วมองค์การการค้าดลก
นางเพโลซีวิจารณ์และท้าทายความพยายามของนายคลินตัน ว่าขอให้คำนึงถึงการละเมิดสสิทธิมนุษยชนของจีน และการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทจีนด้วย
"ฉันผิดหวังมากค่ะ ที่ประธานาธิบดีคลินตันเลือกที่จะเดินหน้านโยบายที่ล้มเหลว" นางเพโลซี กล่าวเมื่อปี 2540
"ตั้งแต่เขาแยกเรื่องการค้าออกจากสิทธิมนุษยชนเมื่อ 3 ปีก่อน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนและทิเบตก็แย่ลงเรื่อยๆ ตัวเลขขาดดุลของสหรัฐต่อจีนก็เพิ่มขึ้น รัฐบาลอำนาจนิยมของจีนก็ยังขายอาวุธนิวเคลียร์ เคมี ขีปนาวุธ และอาวุธชีวภาพให้กับประเทศที่เป็นอันตราย รวมถึง อิหร่าน"
จี้จีนปล่อยนักโทษการเมือง
เมื่อปี 2545 นางเพโลซีพยายามส่งจดหมาย 4 ฉบับไปยังนายหู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น ให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองชาวจีนและทิเบต แต่นายหูปฏิเสธรับจดหมายฉบับดังกล่าว
ANDY WONG / POOL / AFP
แต่นักการเมืองชาวสหรัฐรายนี้ไม่ยอมแพ้ เมื่อมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศจีนอีกเมื่อปี 2552 ในยุคที่นายหูกลายเป็นประธานาธิบดีจีนแล้ว ก็พยายามส่งจดหมายอีกฉบับถึงมือนายหู ซึ่งครั้งนี้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายหลิว เสี่ยว-ปวอ แต่ก็ไม่เป็นผล
แม้นายหลิวได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2553 แต่ก็เสียชีวิตเมื่อปี 2560 ระหว่างที่ยังถูกจีนคุมขัง
HO / AFP
พบปะดาไลลามะ
เมื่อพูดถึงบุคคลที่จีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง อีกชื่อหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นองค์ดาไลลามะ องค์ที่ 14 ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ที่ลี้ภัยมาอยู่ทางเหนือของอินเดียเมื่อจีนผนวดทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อปี 2494
นางเพโลซีมีโอกาสพบปะกับดาไลลามะรูปนี้หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือปี 2550 ที่ไปเยือนวัดธรรมศาลา ในรัฐหิมาจัลประเทศ ของอินเดีย และหลังจากการเยือนครั้งนั้นนางเพโลซีก็เรียกร้องให้นานาชาติสอบสวนการปราบปรามผู้ชุมนุมในทิเบตด้วย
STR / AFP
บอยคอตต์จีนจัดโอลิมปิก
ที่ผ่านมา นางเพโลซีไม่เห็นด้วยต่อการที่จีนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2536 โดยอ้างว่าจีนมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่น่าดูนัก
ส.ส. รัฐแคลิฟอร์เนียรายนี้ เคยเรีรยกร้องให้นายจอร์ช ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บอยคอตต์การจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2551 ในกรุงปักกิ่งด้วย แต่ไม่สำเร็จ
เมื่อช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 นางเพโลซียังยืนยันจุดยืนเดิม ด้วยการเรียกร้องให้บอยคอตต์ทางการทูตต่อโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง เพราะมองว่าจีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ไม่ดี
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงตอบโต้ในช่วงดังกล่าวว่า คำกล่าวของนางเพโลซีเต็มไปด้วยคำโกหกและข้อมูลปลอม
FREDERIC J. BROWN / AFP
หนุนม็อบฮ่องกง
อีกเหตุการณ์ที่นางเพโลซีมีบทบาทอย่างมากในการวิจารณ์จีน คือ การชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สภานิติบัญญัติฮ่องกงพยายามผลักดันเมื่อปี 2562
นางเพโลซีกล่าวว่าสหรัฐยืนหยัด "ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชนฮ่องกงที่รักเสรีภาพ" ทั้งยังวิจารณ์ว่าสภานิติบัญญัติฮ่องกงในขณะนั้นถูกจีนครอบงำ และต้องการทำให้การลักพาตัวผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลจีนไปดำเนินคดีในจีนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย