ผบ.ตร. เล่าบทเรียนชีวิตตำรวจ ยกคดีเกาะเต่า-ระเบิด กทม. ผลงานสืบชิ้นสำคัญ
ผบ.ตร. บรรยายพิเศษ นรต.76 – 79 เล่าบทเรียนชีวิตตำรวจ ฝากข้อคิดการรับราชการตำรวจอย่างมีคุณค่า
(9 ส.ค.65) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บรรยายพิเศษแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 – 4 (นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 76 – 79 ) จำนวน 806 นาย ในหัวข้อ การรับราชการตำรวจอย่างมีคุณค่า ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เริ่มการบรรยายโดยเล่าเกร็ดชีวิตการรับราชการตำรวจของตนเอง ตั้งแต่เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 เข้าเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 บรรจุในตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สน.หัวหมาก เลื่อนตำแหน่งเป็นสารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการ รองผู้บังคับการ ผู้บังคับการ รองผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. กระทั่งได้รับการแต่งตั้ง เป็น ผบ.ตร.
ผบ.ตร. ยังถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต โดยเล่าว่า ทุกช่วงชีวิตรับราชการตำรวจ ต้องมุ่งมั่นทำงาน ทำหน้าที่ในตำแหน่ง ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น การจัดระเบียบภายในสถานีตำรวจ ขับเคลื่อนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งด่านตรวจค้น จับกุมสิ่งผิดกฎหมาย ในช่วงดำรงตำแหน่ง สวป.สน.หนองแขม ต่อมาครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สน.ลุมพินี จัดระเบียบใน สน. การกวาดล้างจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ในพื้นที่ สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อประเทศทำให้อาจถูกกีดกันทางการค้า การปฏิบัติอย่างจริงจังส่งผลให้ประเทศไทยผ่านการประเมินจากนานาชาติ รอดพ้นจากการติดบัญชีประเทศเฝ้าระวัง
ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นทำงานสืบสวนซึ่งเป็นงานที่ชอบ ถนัด และมีทักษะอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ จนเป็นที่ยอมรับ และมักได้รับมอบหมายให้สืบสวนคลี่คลายคดีสำคัญ เช่น คดีระเบิดในกทม. คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีฆ่านักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และยังริเริ่มทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านการสืบสวน พัฒนานักสืบ จนกลายเป็นต้นแบบหลักสูตรการสืบสวนในปัจจุบัน สร้างตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผบ.ตร. ได้ฝากข้อคิดการรับราชการตำรวจ แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ดังนี้
1.อยากจะเจริญก้าวหน้า ต้องหาเรื่องยากๆ ทำ อย่าทำเรื่องง่ายๆ
2.ทุกการเดินทางในแต่ละช่วงชีวิต มีบทเรียนให้เราเรียนรู้เสมอ เช่น การทำคดีเกาะเต่า คดีการเสียชีวิตของแตงโม ดาราสาว ที่โซเชียลมีเดีย และอินฟลูเอนเซอร์ เข้ามามีบทบาท แสดงความคิดเห็นไหลไปตามกระแสสังคม ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักให้ได้ แม้จะสวนกระแสสังคม ดังนั้นต้องเรียนรู้ ปรับตัว ยอมรับ เอาตัวรอดให้ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
3.ชีวิตขึ้นต้นมาเรื่องหนึ่ง เราไม่รู้ตอนลงท้ายเป็นอย่างไร อาจมีคนเขียนบทละครไว้ อย่าไปตั้งเป้ายศถาบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่ง เด็กบางคนมีเป้าหมายมีฐานะ ติดยศเร็ว คิดแบบไหนก็ไม่มีใครผิด แล้วแต่จริตของแต่ละคน
4.ชีวิตเดินคนเดียวไม่ได้ การทำงานต้องมีผู้บังคับบัญชา และต้องรักษาลูกน้องให้ดี “ผมเป็นแบบนี้ถ้าจะเลือก ระหว่างงาน ผู้บังคับบัญชา ประโยชน์ จะด้วย เกียรติยศ ชื่อเสียงเงินทอง ผมเลือกงาน กับผู้บังคับบัญชาก่อน ผมเลือกงานที่ชอบและมีผู้บังคับบัญชาที่ดี เพราะประสบการณ์ชีวิต สอนเราว่า ชีวิตนี้เราเดินคนเดียวไม่ได้ เราต้องหาคนไปกับเรา หาผู้บังคับบัญชา หาเพื่อนร่วมงาน หาลูกน้อง โดยเฉพาะลูกน้องที่ดีต้องรักษาไว้ยิ่งชีพ เป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานมา ไม่ต้องคบคนเยอะ ดูแลลูกน้องที่เขาเดินตามเรา เราดูแลเขา เขาดูแลเรา เรื่องความเจริญก้าวหน้า เงินทอง เอาไว้ทีหลัง ผมไม่เคยเอามาเป็นตัวพิจารณาในการรับราชการ” ผบ.ตร.กล่าว
5.ตำรวจควรมียี่ห้อของตัวเอง มีภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองเรา เช่น เก่งด้านสืบสวน เก่งด้านอำนวยการ เก่งด้านวางแผน เชี่ยวชาญด้านการสอบสวน “ยี่ห้อ คือสิ่งที่คนอื่นตั้งให้เรา ไม่ใช่เราประกาศเองว่าเราเก่ง ว่าเราเป็นนักรบ เพราะนั่นคือการโฆษณา ยี่ห้อเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างเอง แล้วคนอื่นประกาศว่าเราเป็น อยากเก่งอะไร อยากทำอะไร ต้องทำ ศักดิ์ศรีต้องสร้างเอง เกียรติยศคนอื่นมอบให้
6.ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันสร้าง หากไม่สร้างก็ไม่เกิด ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง แม้แต่ความยุติธรรมในชีวิตราชการ วันหนึ่งหากรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมอย่าละทิ้งหน้าที่ อย่าหยุดทำ ต้องต่อสู้
7.ชีวิตคนเราล้มเหลวได้บ่อย เอาความผิดพลาดเป็นบทเรียนในชีวิต อย่าให้มันเสียเปล่า ต้องลุกมาให้ได้
“ชีวิตคือการเดินทาง อย่าเดินลงเหว อย่าตั้งใจเดินลงเหว ต้องเรียนรู้ ต้องสู้ หาทางพ้นจากเหวให้ได้ปลายทางแต่ละคนไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ชีวิตอาจพบจุดเสี่ยงที่ปากเหว ต้องมีสติ สะดุดล้มได้แต่ต้องลุกขึ้นมา” ผบ.ตร.กล่าว
8.ชีวิตมีเรื่องทั้งเรื่องสนุกสนาน และเรื่องหดหู่ หากชีวิตสนุกสนานอย่าเพลิดเพลินจำเริญใจกับมันมาก มีความสุขกับสภาพที่มีให้ได้ เวลารุ่งเรืองอย่าหลง และเมื่อถึงจุดที่ลำบาก อย่ายอมแพ้ อย่าหดหู่
9.เราเลือกงานไม่ได้ เลือกผู้บังคับบัญชาไม่ได้ หากเลือกได้ เลือกให้ดี เลือกให้ถูก แต่สิ่งสำคัญคือเราเลือกได้เสมอ คือเลือกว่าจะทำตัวอย่างไรท่ามกลางปัจจัยที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ทำอะไรที่มอบหมายให้ดีที่สุด มีสติ คิดให้ครบถ้วน
“พยายามอย่าอยู่เฉย อย่าอยู่นิ่ง อย่าเป็นเป้านิ่ง ปรับตัวเรียนรู้ มีเท่าไหร่ใส่ไปให้เต็ม ชีวิตเขาอาจวาดให้เป็นอะไรก็แล้วแต่ ทำให้สมบูรณ์ ทำให้เท่ เราอาจไม่ได้รับตำแหน่งสูงสุด ก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลว ทำงานงานสำเร็จแต่ละวันถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว การมีชีวิตครอบครัวที่ดี ก็คือความสำเร็จเช่นกัน” ผบ.ตร.กล่าว
10.อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ผบ.ตร. ยังร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักเรียนนายร้อยตำรวจด้วย