เตือนภัย เทรนด์อันตราย #วัยรุ่นลิ้นฟ้า ยาอันตรายขายเกลื่อนโซเชียลมีเดีย

เตือนภัย เทรนด์อันตราย #วัยรุ่นลิ้นฟ้า ยาอันตรายขายเกลื่อนโซเชียลมีเดีย

เตือนภัย เทรนด์อันตราย #วัยรุ่นลิ้นฟ้า ยาอันตรายขายเกลื่อนโซเชียลมีเดีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายหลังสื่อนำเสนอข่าว กลุ่มวัยรุ่นใช้อาวุธปืนยิงถล่ม 16 นัด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในพื้นที่ สน.หนองค้างพลู เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีการระบุชื่อผู้ก่อเหตุคือนายมีน หรือ “มอส คลองขวาง” อายุ 25 ปี

เพื่อนผู้บาดเจ็บให้ข้อมูลว่า "มอส คลองขวาง" มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง และชอบเคี้ยวยาโรฮิบนอล 542 หรือยาลิ้นฟ้าตลอดเวลา จนเกิดอาการหลอน ภายหลังกลุ่มเพื่อนไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย จึงพยายามตีตัวออกห่าง ประกอบกับมีเรื่องขัดแย้งกันจนนำไปสู่การก่อเหตุยิง 16 นัด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากความขัดแย้งส่วนตัว การใช้ยา โรฮิบนอล 542 ถูกสังคมตั้งคำถามว่า มีส่วนทำให้ผู้ก่อเหตุรายนี้ มีพฤติกรรมประสาทหลอนร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคนตั้งคำถามต่อการได้มาของยาชนิดนี้ เนื่องจากเป็นยาควบคุม และจัดอยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2

ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) มีชื่อทางเคมี flunitrazepam มีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ จึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด ในบางประเทศยาชนิดนี้ถือเป็นยาผิดกฎหมาย เนื่องจากมีรายงานถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

ยาจะออกฤทธิ์เร็ว หลังรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับ ภายในเวลา 20-30 นาที หลังการรับประทานยา และฤทธิ์จะอยู่นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบแก่ผู้ใช้ยาให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงง เดินเซ ปวดศรีษะ และความจำในระหว่างที่ได้รับยาลดลง การตัดสินใจไม่ดี บางรายอาจมีอาการสั่น ฝันร้าย ประสาทหลอน และพฤติกรรมผิดปกติ

การควบคุมยาชนิดนี้ในประเทศไทย เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพื่อป้องกันการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ผู้มีสิทธิสั่งจ่ายยาชนิดนี้ จะต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตว์แพทย์ เท่านั้น ห้ามมิให้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป และผู้ที่จะใช้ยานี้ได้ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์

ผู้สื่อข่าว Sanook News สืบค้นข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบว่ามีการลักลอบขายยาชนิดนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น มีการระบุแฮชแทคของผู้ลักลอบจำหน่าย และลักลอบใช้ว่า #วัยรุ่นลิ้นฟ้า542 #เม็ดเมา #วัยรุ่น542 #โรฮิปนอล542 #พลัง542 นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นบางกลุ่มมักจะนิยมถ่ายคลิปวิดีโอขณะมึนเมา พร้อมกับถ่ายรูปลิ้นของตนเองที่มีลักษณะสีฟ้าหลังใช้ยา มาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ พร้อมกับติดแฮชแทค #วัยรุ่นลิ้นฟ้า ด้วย ทั้งนี้จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาชนิดนี้อย่างจริงจัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook