ดราม่าปล่อยปลาลงทะเล! เพจท่องเที่ยวซื้อทัวร์หน่วยทัพเรือ มารู้ทีหลังทำลายระบบนิเวศ
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตท้วงติงเพจท่องเที่ยวแนวครอบครัวเพจหนึ่งเมื่อวันพุธ (17 ส.ค.) จนเป็นกระแสดราม่าต่อเนื่องมาจนถึงวันพฤหัสบดี (18 ส.ค.) หลังจากเพจดังกล่าวโพสต์บอกเล่าประสบการณ์การไปท่องเที่ยวและทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยหนึ่งของกองทัพเรือใน จ.ชลบุรี ที่มาทราบภายหลังว่าไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศและอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
เพจดังกล่าวตั้งชื่อการกิจกรรมครั้งนี้ว่า "ปล่อยปลาฉลาม หาดตะวันรอน สัตหีบ" โดยมีภาพการปล่อยฉลามลงสู่ทะเล ทั้งยังมีภาพถือปลาฉลามด้วย
นอกจากนี้ยังมีภาพปล่อยปลาการ์ตูนสีส้มขาวด้วย ซึ่งภายหลังเผยว่าไม่ใช่ภาพของเพจดังกล่าว จึงลบออกไปในเวลาต่อมา
ติงธรรมชาติเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์หลายคนเข้ามาท้วงติงว่า การปล่อยฉลามและปลาการ์ตูนพันธุ์ดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งท้วงติงว่า
"อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะถือฉลามขึ้นมาอย่างงั้นครับ และไม่ควรเอาอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติอย่างปะการังขึ้นมาเป็นอันขาดครับ" และแนะนำให้เก็บขยะตามชายหาดดีกว่า
เพจท่องเที่ยวนี้กล่าวถึงประเด็นการจับฉลามในอีกคอมเมนต์หนึ่งว่า "เจ้าหน้าที่เป็นคนส่งมาให้เราแบบนี้เลยครับ และได้เห็นรูปที่มีการถือปลาฉลามครับ เลยคิดว่าเป็นเรื่องปกติครับ ขอโทษสำหรับสิ่งที่พวกเราทำด้วยนะครับ ขอบคุณครับ"
ส่วนประเด็นการปล่อยปลาการ์ตูนนั้น มีผู้มาแสดงความเห็นว่าปลาพันธุ์ดังกล่าวไม่ใช่พันธุ์พื้นถิ่นของอ่าวไทย และถ้าปล่อยไปก็็จะทำลายระบบนิเวศได้
เพจแจงทำตามเจ้าหน้าที่
เพจดังกล่าวจึงขอโทษและชี้แจงในโพสต์เดิมว่า
"ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมครั้งนี้ เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เลยลองเซิร์ชดูข้อมูล มีแจ้งว่ามีกิจกรรมที่หาดเตยงาม และหาดตะวันรอนและได้หาข้อมูลมาในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เห็นว่าเป็น โครงการของทางกิจการการท่องเที่ยว เราเลยมั่นใจว่ากิจกรรมที่ทางหน่วยงานตรวจสอบแล้วน่าจะเหมาะสมและถูกต้อง และประกอบกับอ่านจากแหล่งข้อมูลตามลิงก์เหล่านี้ด้วยค่ะเราเลยมีความไว้วางใจ ที่จะพาครอบครัวไปทำกิจกรรมค่ะ คิดว่าเขาแนะนำได้จากอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าหากทางพวกเราทำอะไรผิดไป ต้องขอโทษด้วยจริงๆค่ะ"
นอกจากนี้ ยังคงโพสต์ดังกล่าวไว้ในเพจเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายอื่นที่ยังไม่ทราบ
พบจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2559
จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ เพจนี้แนบลิงก์ที่ทำให้เชื่อได้ว่าหน่วยของทหารเรือหน่วยดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้มาตั้งแต่อย่างน้อยที่สุดคือปี 2559 ซึ่งมีเอกชนที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (ซีเอสอาร์) มาร่วมทำกิจกรรมลักษณะนี้หลายองค์กร
กองทัพเรือขอโทษ สั่งห้ามตั่งแต่ปี 2562
กองทัพเรือ แถลงขอโทษเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ส.ค.) จากการมีภาพกิจกรรมปล่อยฉลามและพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเล ที่มีการแชร์รูปภาพลงในอินเทอร์เน็ตตลอดหลายวันที่ผ่านมาและโจมตีเกี่ยวกับการทำลายระบบนิเวศ
พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติ ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันท์ ผู้บัญชากการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กล่าวสอดคล้องกันว่า ตนเคยมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของหน่วยที่ไม่กำกับดูแลจนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และขอโทษพี่น้องประชาชนมา ณ ที่นี้
กองทัพเรือเผยอีกว่า เหตุดังกล่าวทำให้ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการเน้นย้ำไปยังกำลังพลและหน่วยในสังกัดให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรมที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ขณะเดียวกันกองทัพเรือก็มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์
หลังโควิดยังจัดเหมือนเดิม?
แม้คำชี้แจงดังกล่าวระบุว่าห้ามจัดกิจกรรมลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2562 แต่เว็บไซต์ท่องเที่ยวเว็บไซต์หนึ่งกลับมีภาพที่ขัดแย้งกับแถลงการณ์นี้ เพราะมีภาพคนสวมหน้ากากอนามัยไปทำกิจกรรมที่อ่าวนาวิกโยธิน หาดเดยงาม อ.สัตหีบ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าจัดขึ้นหลังจากโรคโควิด-19 เริ่มระบาดเข้ามาในไทยเมื่อเดือน มี.ค. 2563
ไม่ใช่แค่นั้นในเว็บไซต์ดังกล่าวมีภาพเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถือหอยเม่นขึ้นมาเหนือน้ำ และมีภาพผู้ร่วมกิจกรรมถือโหลพลากสติกที่มีปลาการ์ตูน 2 ตัวใน หรือที่บรรยายในเว็บไซต์ว่า "ปลานีโม" ก่อนนำไปปล่อยลงสู่ทะเล