รู้จัก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอศาลเคาะประยุทธ์

รู้จัก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอศาลเคาะประยุทธ์

รู้จัก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอศาลเคาะประยุทธ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ชื่อนี้มักอยู่ในพื้นที่ข่าวอยู่แล้ว แต่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่หลายคนเรียกว่าลุงป้อม ยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นไปอีกหลังจากก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ทำหน้าที่แทน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. แล้วหรือไม่

พล.อ.ประวิตร เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2488 ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นจังหวัดพระนครอยู่ เข้าเรียนที่ดรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนศึกษาต่อยังโรงเรียนเตรียมทหาร ในรุ่นที่ 6 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 แล้วจึงมาจบการศึกษาหลักสูตรประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2521

ทักษิณเผย "เกาะโต๊ะ" ขอเป็น ผบ.ทบ.

เมื่อปี 2532 พล.อ.ประวิตร ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ ต่อด้วยผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ เมื่อปี 2539 และค่อยๆ ได้รับการขยับตำแหน่งสูงขึ้นตามความสามารถและประสบการณ์ จนได้มาเป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2547 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เคยกล่าวถึงที่มาการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.ประวิตร อย่างน่าสนใจผ่านทวิตเตอร์เมื่อปี 2561 ในทำนองว่าตำแหน่งดังกล่าวได้มาจากการขอร้องตน

โดดร่วมการเมือง-เอี่ยวศูนย์ปราบคนเสื้อแดง

การก้าวเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเปิดเผยของ พล.อ.ประวิตร เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 หลังจากยุบพรรคพลังประชาชนที่ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้มีการจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ จนได้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ นายทหารรายนี้ก็ได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ปีเดียวกัน

ในยุคนี้กลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกกันว่าคนเสื้อแดง ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลในขณะนั้นกลับเลือกใช้วิธีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่จบด้วยการสังหารหมู่จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ราย ในการทำให้การชุมนุมดังกล่าวยุติลง

ศอฉ. นี้มีผู้อำนวยการคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต่อมาเป็นแกนนำในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 และมี พล.อ.ประวิตร เป็นรองผู้อำนวยการ

ฉายภาพลักษณ์ปากแจ๋ว

ต่อมาเมื่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกกองทัพรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 บทบาทของ พล.อ.ประวิตร ก็โดดเด่นมากขึ้น ในฐานะผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ยังได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

หนึ่งในความโดดเด่นของ พล.อ.ประวิตร คือ ลีลาการตอบคำถามสื่อมวลชนที่มักกล่าวว่าตนไม่รู้เรื่องที่ถูกสัมภาษณ์หรือขอให้ความเห็น แต่หลายครั้งก็อดเก็บอารมณ์ไม่อยู่และมักแสดงอารมณ์ก้าวร้าวต่อสื่อมวลชน

ไม่ใช่แค่นั้นบางครั้งก็ยังกล่าวถึงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำที่ฟังแล้วน่าตกใจ อย่างเช่นที่เคยกล่าวถึง อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณว่า "ไอ้ทักษิณ" ทั้งยังใช้สรรพนามเรียกอดีตผู้นำประเทศรายนี้ว่า "มัน"

คำพูดของ พล.อ.ประวิตร ยังส่งผลกระทบไปยังนอกประเทศด้วย อย่างเช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางเรือที่ จ.ภูเก็ต ที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าเป็นเพราะคนจีนทำกับคนจีนเอง และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของไทย ทำให้ชาวโซเชียลจีนแสดงความไม่พอใจ จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว

สุขภาพไหวมั้ย?

ความพร้อมทำงานของ พล.อ.ประวิตร ยังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เมื่ออายุยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจะพบว่า พล.อ.ประวิตร "พักสายตา" บ่อยครั้งในเหตุการณ์สำคัญ แม้แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2562

ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการเผยแพร่ภาพที่ต้องมีคนคอยพยุง พล.อ.ประวิตร ขณะเดิน ก็ยิ่งสร้างความกังวลถึงสุขภาพของอดีตทหารเกษียณอายุรายนี้ขึ้นไปอีก

เป็นนักการเมืองเต็มตัว

แม้อาจตกเป็นประเด็นให้หลายฝ่ายแคลงใจเกี่ยวกับความโปร่งใส อย่างเช่น ประเด็นนาฬิกายืมเพื่อน แต่หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประวิตร กลายเป็นที่ไว้ใจของบรรดา ส.ส. ในพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันบทบาทหัวหน้าพรรคของ พล.อ.ประวิตร ก็ทำให้แสดงความเป็นนักการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจน

สิ่งนี้เองที่ทำให้มีกระแสข่าวว่าความคิดเห็นของ พล.อ.ประวิตร เริ่มไปคนละทางกับ พล.อ.ประยุทธ์

ด้าน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐหลายก็มองว่า พล.อ.ประวิตร ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคมากกว่านั้น อาจผลักดันนโยบายของพรรคไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากขึ้น และจะเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งสมัยหน้า จนมีความพยายามหลายครั้งในการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากเก้าอี้ และหลายคนยังโยงว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายธรรมนัส พรหมเผ่า หรือไม่

ยิ่งใกล้ถึงการเลือกตั้งสมัยถัดไป พล.อ.ประวิตร ก็ยิ่งมีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองมากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ไปหาเสียงตามจังหวัดต่างๆ อย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ที่ จ.หนองคาย ซึ่งมีการตั้งเป้าว่าจะล้มพรรคเพื่อไทยในพื้นที่นี้ให้ได้ ซึ่งต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐเคยชูเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่กลับไม่เคยลงพื้นที่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเลยสักครั้ง แต่เลือกที่จะลงพื้นที่ด้วยการตรวจราชการแทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook