"ศิริกัญญา" ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล เสกเจ้าสัวพลังงานรวยสุดในประเทศ
ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับ Perfect Storm หรือมหาพายุทางเศรษฐกิจ แต่ยังเห็นการจัดทำงบประมาณและนโยบายที่ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน ทีมข่าว Sanook สัมภาษณ์พิเศษ พูดคุยกับ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย ถึงสภาพปัญหาและทางรอดจากวิกฤตินี้
ศิริกัญญา อธิบายว่า แม้สภาพเศรษฐกิจตอนนี้จะไม่ตรงกับนิยามของวิกฤติใดๆ ก็ตาม แต่ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนก็รู้สึกว่ามันวิกฤติมากแล้ว เนื่องมาจากเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ เริ่มจากการระบาดของโควิด-19 ถึงสองปีกว่า และการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อลดต่ำลง ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาพลังงาน พอราคาพลังงานเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นด้วย ค่าครองชีพที่มันสูงขึ้นตาม เงินเฟื้อจึงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7-8% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี ซึ่งก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้นเร็วๆ นี้ เพิ่มภาระการจ่ายดอกเบี้ยของประชาชน ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังเท่าเดิม ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายโดยเฉลี่ยถึงเกือบ 70% ในแต่ละเดือน และรายรับอาจจะไม่พอกับรายจ่ายและอาจจะต้องกู้หนี้ยืมสิน และเพิ่มหนี้ครัวเรือน
แนวคิดที่ผิดทำนายทุนรวยขึ้น ประชาชนจนลง
แม้ภาพรวม GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจโลกหลังโควิด แต่ภาคครัวเรือนยังลำบาก สิ่งที่รัฐต้องทำคือเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่ไม่ใช่การออกนโยบายคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นการแจกแบบสุ่มคือใครเร็วใครได้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน
การตรึงราคาน้ำมันเป็นเหมือนวัวพันหลัก ใช้เงินมาก แต่ไม่แก้ปัญหา หนี้กองทุนน้ำมันเกือบ 1.2 แสนล้านบาท สุดท้ายก็จะตกเป็นหนี้สาธารณะที่ต้องใช้ภาษีของประชาชนใช้หนี้กว่า 30 ปีถึงจะหมด ขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตร เป็นการใช้เงินภาษีโป๊ะกองทุนน้ำมัน แต่ประชาชนยังใช้น้ำมันแพง เพราะเน้นแต่ดีเซล แต่ไม่เน้นเบนซินที่คนส่วนที่มีรายได้น้อยใช้เป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์นิดเดียว แต่ว่าเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปมันสูงมาก
ขณะที่ค่าไฟก็แพงขึ้น แม้ว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าความต้องการถึง 50% แต่กลับต้องเสีย ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ให้โรงไฟฟ้าเอกชนกว่า 9 โรงที่รัฐบาลทำสัญญาไว้ ซึ่งถ้าตัดตรงนี้ไปได้จะลดค่าไฟได้ทันที 24 สตางค์ แต่ภาครัฐก็อ้างว่าใครๆ ก็คาดการณ์การใช้พลังงานผิดได้ แต่กลับไม่หยุดการให้สัมปทาน จนทำให้สุดท้ายคนที่รับสัมปทานใหญ่ๆ กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไปแล้ว
"แปดปีที่ผ่านมาของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนี่ย เศรษฐีที่รวย 50 อันดับแรก เขารวยเพิ่มขึ้น... 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่หนี้ครัวเรือน ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 4.6 ล้านล้านบาท...ก็เท่ากับว่าเงินที่กลายไปเป็นสินทรัพย์ ความมั่งคั่งของเจ้าสัวต่างๆ มันคือมาจากกระเป๋าของประชาชนหรือเปล่า" ศิริกัญญา กล่าว
ทางรอดวิกฤติเศรษฐกิจครัวเรือน
ศิริกัญญามองว่านโยบายภาครัฐพยายามน้อยเกินไปที่จะช่วยเหลือ SME ให้เข้าถึงเงินทุนในยามวิกฤติ ในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปล่อยกู้ให้บริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 12% แต่รายเล็กกลับมีสัดส่วนได้รับการอนุมัติเงินกู้ลดลง แม้ว่ารัฐมีกลไกการประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่ใช้น้อย ทั้งที่ SMEs กำลังจะเริ่มตั้งไข่เดินต่อไปได้ในปี 2565-2566 นี้ ถ้าไม่มีเงินทุนอะไรที่จะให้เขาตั้งตัวขึ้นมาใหม่ได้ ก็หวังพึ่งได้ยากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง เพราะว่าฐานมันอ่อน รัฐบาลมัวแต่ไปพึ่งการส่งออกเยอะ แต่เราอาจจะดีใจได้แค่ตอนนี้ เพราะว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปเศรษฐกิจโลกก็จะชะลอตัวอีก การส่งออกก็จะน้อยลง
นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดการการควบรวมธุรกิจ เช่น ทรูกับดีแทค ที่จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจกระจุกตัวเข้าไปอีก เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเข้าไปใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลยังควรสร้างความเชื่อมั่นและมีมาตรการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่เริ่มกลับมาพื้นตัวแล้ว ลงทุนภายในประเทศ เพราะบริษัทพวกนี้มีเงินสดมีศักยภาพที่จะลงทุน แต่ว่าเขาก็ยังลังเลเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอน อย่าหวังเงินลงทุนจากต่างประเทศ และควรส่งเสริมให้ SMEs ทำประกันความเสี่ยงของค่าเงินในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวน ในภาคครัวเรือน รัฐบาลเองน่าจะมีศักยภาพมากพอที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
สำหรับภาคครัวเรือนต้องเตรียมสำหรับความไม่แน่นอน เก็บเงินสดไว้สำรองจ่ายในช่วงเวลาฉุกเฉิน และเร่งไปคุยกับธนาคารเรื่องการปรับหนี้ของตัวเอง ถ้าเริ่มรู้ตัวแล้วว่ารายได้ในอนาคตมันไม่เหมือนเดิม จะสามารถจัดการกับหนี้ที่มีอยู่ยังไง จะจ่ายได้ลดลงได้บ้างไหม จะสามารถยืดระยะเวลาได้หรือเปล่า ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารตามที่ประกาศก็สามารถไปร้องเรียนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน 1213
"เอาเข้าจริงแล้วมัน ประเทศมันยังไม่ขึ้นมาจากหลุมโควิดด้วยซ้ำไป ฟื้นตัวช้ากว่าทุกประเทศในอาเซียน ถามว่ารัฐบาลทำอะไรนะ ไม่ได้ทำ ทีส่งออกดีบอกว่าเป็นผลงาน แต่ว่าพอเงินเฟื้อบอกว่าเขาก็เป็นกันทั่วโลก เงินเฟ้อสูงกันทั่วโลก...ของดีเอาเข้าตัว ของชั่วบอกว่าเศรษฐกิจโลก" ศิริกัญญา กล่าว