‘กล้า’ พูดชัด ‘กรณ์’ ไม่ได้ทิ้งพรรค แต่กรุยทางใหม่ใน ‘ชาติพัฒนา’ เพื่อกอบกู้ ศก.

‘กล้า’ พูดชัด ‘กรณ์’ ไม่ได้ทิ้งพรรค แต่กรุยทางใหม่ใน ‘ชาติพัฒนา’ เพื่อกอบกู้ ศก.

‘กล้า’ พูดชัด ‘กรณ์’ ไม่ได้ทิ้งพรรค แต่กรุยทางใหม่ใน ‘ชาติพัฒนา’ เพื่อกอบกู้ ศก.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการ พร้อมแกนนำพรรคกล้า แถลงข่าวยืนยันว่ากรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคกล้าไปร่วมงานกับพรรคชาติพัฒนาว่า ไม่ใช่เป็นการทิ้งเพื่อน เพราะตัวเองรู้เรื่องนี้มาก่อนแล้ว และกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคกล้า ก็ลาออกไปสมัครพรรคใหม่ตามไปด้วย แต่ไม่ใช่ลักษณะการควบรวมพรรคซึ่งจะผิดกฎหมาย เพราะกำหนดว่าต้องเป็นพรรคที่ไม่มี ส.ส. เท่านั้นถึงจะควบรวมได้ ดังนั้นการกระทำของกรณ์จึงเป็นไปตามข้อจำกัดทางกฎหมาย คือ ลาออกไปร่วม แต่ไม่ใช่การควบรวมพรรค

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อรรถวิชช์ และผู้บริหารคนอื่น จะทยอยลาออกและไปสังกัดพรรคชาติพัฒนาหรือไม่ อรรถวิชช์ ตอบสั้นๆ ว่า วันนี้ยังรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการพรรคกล้า จะไปแทรกแซงเรื่องพรรคเขาไม่ได้ ผมยังมีงานที่ยังค้างอยู่ 

อย่างไรก็ตาม อรรถวิชช์ยืนยันว่า เรายังมีอุดมการณ์เหมือนเดิม ความสำคัญของพรรคการเมืองคือคน  วิญญาณของความกล้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องเข้าใจว่ากฎหมายไม่ได้เปิดทางให้พรรคการเมืองควบรวม พรรคกล้ายังคงต้องเป็นพรรคกล้าอยู่ และทุกการเปลี่ยนแปลงมีผลทั้งนั้น โดยจะยิ่งทำให้พวกเราเข้มแข็งขึ้นแน่นอน สิ้นเดือนนี้จะชัดเจนขึ้น

เมื่อย้อนกลับไปในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 กรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคกล้า แถลงข่าวในนามบุคคล ที่จะรวมพลังกับพรรคชาติพัฒนา โดยมีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค ร่วมแถลงข่าวด้วย ซึ่งสุวัจน์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการยุบรวมพรรค แต่เป็นการเชิญกรณ์มาร่วมงานกับพรรคชาติพัฒนาในนามบุคคล ขณะที่กรณ์เองก็พูดแค่ว่าไม่ได้มาในนามพรรค แต่ได้หารือกับทีมงานแล้ว และอาจจะมาร่วมงานกับทีมเศรษฐกิจของตนในพรรคชาติพัฒนาในอนาคต แต่ไม่สามารถพูดได้มากกว่านี้เพราะเป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า กรณ์ทิ้งพรรคกล้าที่ตัวเองร่วมก่อตั้งมาอยู่พรรคชาติพัฒนา ซึ่งในความเป็นจริงพรรคกล้ายังคงต้องอยู่ต่อไปตามกฎหมาย แต่แกนนำของพรรคที่ร่วมกันก่อตั้งมาจะทยอยย้ายเข้ามาทำงานกับพรรคชาติพัฒนาในที่สุด คล้ายกับลักษณะของพรรคพลังชล และพรรคพลังประชารัฐในอดีต

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองตามมาก็คือ ตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคได้ 3 คน หากได้ ส.ส. เกิน 25 ที่นั่ง และพรรคกล้าเองที่พูดชัดมาตั้งแต่เปิดตัวพรรคว่าจะชู ‘กรณ์’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคชาติพัฒนาเมื่อครั้งเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยเสนอชื่อสุวัจน์, เทวัญ ลิปตพัลลภ, และ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มาคราวนี้จะชูใครเป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่ง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า กรณ์จะควบทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ด้วย เนื่องจากเห็นว่า กรณ์ เหมาะสมที่จะมากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้

อีกประเด็นหนึ่งคือ แม้กรณ์จะบอกว่าการมารวมพลังกันไม่ใช่เป็นเพราะสูตรคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบหารร้อย ที่ปิดทางพรรคเล็ก และเปิดโอกาสให้พรรคใหญ่ได้เปรียบในการได้ที่นั่งในสภา แต่นี่คือความจริงที่ว่า หากพรรคขนาดกลางหรือเล็กรวมตัวกันก็มีโอกาสเป็นพรรคใหญ่ที่จะได้ที่นั่งมากขึ้น มากกว่าการมาตัดคะแนนกันเอง ซึ่งอาจจะได้เห็นโมเดลนี้กับอีกหลายพรรคใหม่ เช่น พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ ตามที่หลายคนจับตามอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook