"ชัชชาติ" ชี้น้ำท่วมบางเขนอ่วม พร้อมรับฟังและปรับปรุง
ชัชชาติ ชี้สถานการณ์น้ำเขตบางเขนอ่วม เพราะปริมาณฝน หลังตกหนักกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั้งเดือน เผย ยินดีรับฟังคำแนะนำจากทุกคน และจะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น
วันนี้ (11 ก.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานของ กทม. อาทิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตบางเขน เป็นต้น ร่วมปลูกต้นไม้จำนวน 80 ต้น ประกอบด้วย กล้าของต้นตะเคียนทอง 35 ต้น (เป็นไม้ประจำจังหวัดปัตตานี) , กล้าของต้นมะค่าโมง 35 ต้น (ไม้ประจำจังหวัดสุโขทัย) , กล้าต้นแดง 10 ต้น (ไม้ประจำจังหวัดตาก) ณ สวนวัชราภิรมย์ ถ.รามอินทรา เขตบางเขน
หลังนายชัชชาติ ร่วมปลูกต้นไม้กับคณะทำงานและประชาชนเสร็จสิ้น ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกต่อเนื่องทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับฝั่งรามอินทราเลขคี่ยังสามารถระบายน้ำออกที่คลองลาดพร้าวได้ ส่วนบริเวณแยกบางเขนยังมีน้ำท่วมขังอยู่
รวมถึงพหลโยธินช่วงต่อกับถนนตัดใหม่ที่มาจากทางถนนสุขาภิบาล 5 ดอนเมือง คลองเปรมประชากรน้ำยังสูงอยู่ ส่วนคลองที่ยังมีน้ำท่วมวิกฤติอยู่จะมี 3 คลอง คือ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์ ต้องใช้เวลาในการสูบออก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรทุกวัน แต่ถ้าสังเกตเมื่อคืนนี้ (10 ก.ย.) ถ้าเราดูตอน 22.00 น. มีน้ำท่วมอยู่ประมาณ 10 เส้น เช่น สุขุมวิท 71 ทองหล่อ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บางส่วนที่เราสามารถระบายได้ เราก็ระบายได้เร็ว อย่างเมื่อเช้าวันนี้ ส่วนใหญ่ตามถนนหลักก็แห้งหมด ยกเว้นจุดพหลโยธินที่อยู่ติดคลอง ก็ต้องเร่งทั้งในแง่ของการระบายน้ำออกและการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ บรรดาเขตบางเขน หลักสี่ สายไหม ดอนเมือง ลาดกระบัง ก็จะเร่งตั้งศูนย์ดูแลผู้อพยพ หากผู้พักอาศัยริมคลองไม่สามารถพักในบ้านได้ ก็จะมีศูนย์นี้ให้ที่พักพิงชั่วคราวได้
นายชัชชาติ ระบุอีกว่า เขตสายไหมยังดีที่พอมีถนนให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปให้บริการชาวบ้านที่อยู่ริมคลองสองได้ แต่ที่หนักคือชาวบ้านริมคลองเปรมประชากรด้านบน เพราะทางเข้าชุมชนเป็นทางเดิน ทำให้รถไม่สามารถสัญจรเข้าไปได้ จึงต้องใช้เรือ
อย่างไรก็ตาม เราก็ประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน อย่างกรมชลประทานเราก็มีการพูดคุยตลอด เพราะกรมชลประทานเป็นฝ่ายดูแลน้ำในภาพรวมด้านนอก ทั้งในฝั่งของปทุมธานี ฝั่งแปดริ้วต่างๆ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการให้ทรัพยากรต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำ ยังยืนยันว่าประสานงานกับกรมชลประทานมาตลอด
ด้านน้ำเหนือ กับ น้ำหนุน ทั้งสองน้ำไม่ได้มีปัจจัยอะไรมาก เพราะน้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าหลักคลองอยู่แล้ว ก็จะต้องกั้นและต้องขุดออก แต่อาจจะมีน้ำจากฝั่งปทุมธานีที่อยู่ในคลองรังสิต ดังนั้น จึงต้องดันน้ำจากในคลองรังสิตออกสู่เจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะน้ำเหนือหรือน้ำหนุน ก็ขอเพียงอย่าให้ล้นคัน แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้ ยกเว้นจุดฟันหลอบางจุด
ส่วนสิ่งที่กังวลที่สุดตอนนี้คือ น้ำที่เต็มคลอง ที่มาจากน้ำฝนในพื้นที่มากกว่า แต่ไม่ได้กังวลเรื่องน้ำทะเลหนุนหรือว่าน้ำเหนือที่ลงมา เพราะอย่างไรก็ตาม เราต้องปิดประตูแล้วก็สูบออก ปัญหาหลักก็คือเรื่องคลองที่ยังระบายน้ำได้ช้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนแนะนำให้สูบน้ำออกทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แต่ถ้าสูบออกไป ทางคลองพระองค์เจ้าฯก็จะท่วม เพราะน้ำก็สูงเท่ากันแล้ว ซึ่งตรงนี้กรมชลประทานต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะสูบออกมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ พอลงมาพื้นที่ด้านใต้ ตรงนี้เป็นแอ่ง ส่วนใหญ่น้ำจะออกทางด้านใต้ช้า จึงพยายามจะเพิ่มจำนวนเรือแทน ปัญหาหลักสำคัญก็คือปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก โดยปกติเเล้ว ที่เขตบางเขน เฉลี่ยแล้วทั้งเดือนกันยายน ฝนจะตกประมาณ 320 มิลลิเมตร แต่ตอนนี้ไม่ถึงครึ่งเดือน ปริมาณน้ำฝนก็เกินมาแล้ว มันจึงเป็นข้อจำกัดของสภาพกายภาพ แต่เราไม่ยอมแพ้ พยายามลุยเต็มที่ พยายามเพิ่มปั๊มน้ำต่างๆ
“ในอนาคตเราคงจะลงทุนในเรื่องของเครื่องสูบน้ำมากขึ้น เเละต้องเปลี่ยนแนวคิดจากคิดจะทำอุโมงค์ใหญ่ระบายน้ำ ให้มาเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพคลอง นี่จะเป็นแผนในระยะยาว ส่วนในตอนนี้ยุทธศาสตร์คือการลอกท่อให้หมด ปรับปรุงประสิทธิภาพการสูบน้ำ อย่างในพื้นที่ย่อยๆตามชุมชน ก็จะเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปให้มากขึ้น ยืนยันว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วม ตนและคณะทำงานรับฟังความคิดเห็น คำแนะนำจากทุกคน อะไรที่ทำได้ตามคำแนะนำ เราก็นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ยินดีรับฟังเสมอ”