หนังไทย-ซีรีส์ โอกาสยังอีกไกล หนุน Soft Power ไทย ดังกว่าเดิมได้อีก
ด้วยความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ หนังไทยของเราก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ปรากฏการณ์รายได้ระดับร้อยล้านพันล้านในเมืองไทย ไม่ได้จำกัดแค่ความสำเร็จในประเทศ ที่ผ่านมามีหนังไทยหลายต่อหลายเรื่อง ที่ปังในเมืองไทยแล้วยังดังไกลไปถึงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแถบเพื่อนบ้านใกล้ ๆ และไปไกลถึงดินแดนแห่งภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูด
‘หนังไทย’ อุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่ไปได้ไกล
ที่ผ่านมา หนังผี หนังตลก และหนังแอคชั่น ที่ออกแนวศิลปะป้องกันตัวแบบไทย ๆ อาทิ พี่มากพระโขนง, ต้มยำกุ้ง, องค์บาก ฯลฯ เป็นแนวหนังที่ต่างชาติชื่นชอบ และมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกนำไปทำเป็นเวอร์ชั่นของแต่ละประเทศ อาทิ ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ แฝด คิดถึงวิทยา ไอฟายแต๊งกิ้วเลิฟยู้ ฉลาดเกมส์โกง ฯลฯ รวมทั้งการเล่าเรื่องความเป็นไทยในมิติใหม่ ๆ ที่ได้รับความสนใจในเวทีต่างประเทศ เช่น บุพเพสันนิวาส, แปลรักฉันด้วยใจเธอ, มะลิลา, ไทบ้านเดอะซีรีส์, Mary is happy Mary is happy, One for the road, Fast & Feel Love, ร่างทรง, อนินทรีย์แดง, พญาโศกพิโยคค่ำ, พลอย และล่าสุด Faces of Anne ที่กำลังจะเข้าฉายในเร็วๆนี้ นั่นยังไม่นับภาพยนตร์โดยผู้กำกับไทยฝีมือดีอย่าง เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และผู้กำกับอีกหลายท่านที่ได้นำภาพยนตร์ไทยไปเฉิดฉายในเวทีโลกมาแล้ว
เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะตัว ที่สามารถนำทุนทางวัฒนธรรม เช่น ประวัติศาสตร์ ค่านิยมในท้องถิ่น ตลอดจนวิถีของคนไทยรุ่นใหม่ มาประยุกต์ และผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ เป็น Soft Power ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เช่น ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สปา ร้านจำหน่ายของที่ระลึก เป็นต้น
ส่งออก Soft Power ผ่านภาพยนตร์-ซีรีส์
โชว์ ‘ดีเอ็นเอ’ ความเป็นไทยในเวทีโลก
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยแบ่งได้ออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านการผลิตเนื้อหา (Content) หรือที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมคอนเทนต์” ซึ่งนับเป็น 1 ใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพเติบโตสูงสุดที่กำลังถูกผลักดันให้เติบโตขึ้น และยกระดับให้ก้าวสู่ระดับสากล โดยเฉพาะภาพยนตร์ และ ซีรีส์ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยคอนเทนต์ซีรีส์วายในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่าสามารถสร้างรายได้สูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างรายได้ทางตรงเท่านั้น แต่ในมุมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคอนเทนต์ยังนับเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง Soft Power ไทยในเวทีโลก ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตไปยังอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ด้วยการสอดแทรก “ดีเอ็นเอ” ความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ เช่น วัตถุดิบ อาหาร สมุนไพร ศิลปะการต่อสู้ เทศกาลท้องถิ่น การเฉลิมฉลอง นวัตกรรม งานออกแบบ ฯลฯ ของไทย เพื่อสื่อสาร “แบรนด์ประจำชาติไทย” ในแบบที่ต้องการนำเสนอสู่ระดับสากลอย่างละมุนละม่อม เป็นไปตามกระบวนการการผลักดัน Soft Power ไทย ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย
“จุดสำคัญของสิ่งที่ทุกประเทศผลักดัน Soft Power ก็คือการหยิบเอาดีเอ็นเอของชาติมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการสร้าง “แบรนด์ประจำชาติไทย” และขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้อย่างล้นเหลือ แต่เราจำเป็นต้องเฟ้นหาสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล ประกอบกับความรู้ความเข้าใจในกระแสโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถพัฒนาไปต่อได้ เช่น อาหารไทย หรือเทศกาลท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ทางธุรกิจต่อเนื่อง มีแรงงานที่มีทักษะฝีมือ มีความพร้อมของภาคเอกชนรองรับ และมีความต้องการของตลาดสูง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราวางกลยุทธ์ให้อาหารเป็นตัวนำ ผู้ประกอบการหรือนักสร้างสรรค์ยังสามารถทำกิจกรรมทางตรง คือการส่งเสริมความนิยมของอาหารไทย เชฟไทย ร้านอาหารไทย วัตถุดิบไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังแหล่งเกษตรกรรมหรือแหล่งเพาะปลูกซึ่งเป็นที่มาของอาหารและวัตถุดิบ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมทางอ้อมที่สื่อสารผ่านเรื่องราวของซีรีส์หรือภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลาย ๆ ประเทศกำลังดำเนินอยู่” ดร.ชาคริตกล่าว
CEA Content lab มุ่งพัฒนาทักษะบุคลากรสู่มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ CEA ยังได้มุ่งเน้นในการพัฒนาและยกระดับทักษะศักยภาพของบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการผลิตสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลก จัดทำโครงการยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยสู่ระดับสากล (CEA Content lab) ยกระดับความเชี่ยวชาญ และเพิ่มจำนวนบุคลากรสร้างสรรค์ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิต และได้มาตรฐานสากล โดยเป้าหมายในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าผลิตโปรดดิวเซอร์ นักเขียนบท ผู้กำกับ จำนวนอย่างน้อย 10 กลุ่ม ที่สามารถเสนอ Project Proposal พร้อมกับ Teaser จำนวน 10 เรื่อง เป็นการพัฒนาบุคคลากรและยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์พร้อมส่งออกสู่เวทีสากล โดยร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาศัยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม มาช่วยส่งเสริมให้มีความหลากหลายและล้ำสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทย สนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การเชื่อมโยงเครือข่ายนักสร้างสรรค์ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังได้หารือความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI, Netflix ไทย และ สหมงคล ฟิล์ม รวมไปถึงภาครัฐเอกชนต่างๆ ถึงแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ให้เกิดการส่งเสริมการส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น
ชูมาตรการดึงกองถ่ายหนังในเข้าไทย หวังสร้างเศรษฐกิจ-ยกระดับองค์ความรู้
ขณะที่มิติที่สอง คือการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยเพิ่มขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560 - 2564 มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี เฉพาะปี 2564 สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยมีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จำนวน 122 เรื่อง ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการเข้ามาลงทุนของกองถ่ายต่างประเทศในประเทศไทย
โดยภาครัฐได้ร่วมกันจัดทำมาตรการต่างเพื่อชักจูงให้เกิดการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย อาทิ มาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย และยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนที่จะปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) เพิ่มขึ้นสำหรับกองถ่ายต่างประเทศ ที่มีเนื้อหาที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย เพื่อเป็นการดึงดูดให้เกิดการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยเพิ่มขึ้น และส่งเสริม Soft Power ไทย ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการออกมาตรการในการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรกลุ่มกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับหนังสือรับรองจากกรมการท่องเที่ยว ปรับหลักเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมืองให้เอื้อต่อการถ่ายทำให้ครอบคลุมทั้ง จัดตั้งศูนย์ One Stop Service เพื่อปรับกระบวนการออกใบอนุญาตและหลักฐานต่างๆ อย่างเหมาะสม
“การเข้ามาของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ต้องขนทีมงานหลายร้อยชีวิตและอุปกรณ์การถ่ายทำต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย ไม่เพียงจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องที่ที่เข้าไปถ่ายทำและยังเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทยทางอ้อม สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการนำองค์ความรู้จากทั่วโลกเข้ามาในเมืองไทย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลค่าที่ได้กลับคืนมาจึงไม่ได้เป็นเพียงแต่จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าทางความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรในประเทศได้อีกด้วย”
อุตสาหกรรมคอนเทนต์ เป็นหนึ่งในเส้นทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จากพลังของการสร้างสรรค์ ผ่าน Soft Power การกินอยู่แบบไทย สไตล์ที่แตกต่าง ไม่จำกัดเฉพาะความเป็นไทยแบบดั้งเดิม แต่หมายถึงความเป็นไทยร่วมสมัย อาศัยรากฐานทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ที่ช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมืองไทย และไม่จำกัดแค่การขายคอนเทนต์หรือสถานที่ถ่ายทำ แต่จะนำพาเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกหลายช่องทางอีกด้วย
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) Creative Economy Agency (Public Organization)
[Advertorial]