19 ปีในไทย ลูกจ้างชาวกะเหรี่ยงเก็บเงิน 5 ล้านสร้างบ้านให้แม่

19 ปีในไทย ลูกจ้างชาวกะเหรี่ยงเก็บเงิน 5 ล้านสร้างบ้านให้แม่

19 ปีในไทย ลูกจ้างชาวกะเหรี่ยงเก็บเงิน 5 ล้านสร้างบ้านให้แม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมข่าว Sanook สัมภาษณ์พิเศษ นัน มาไว หรือ เคธี่ ชาวกะเหรี่ยง ที่มาทำงานเป็นแม่บ้านและพนักงานร้านชุดเจ้าสาว Bride Wholesale ย่านประตูน้ำ ถึงมุมมองและประสบการณ์กว่า 19 ปี ที่มาทำงานในประเทศไทย

เคธี่ เล่าว่า เธอเป็นชาวเมืองพะอัน ประเทศเมียนมา เกิดในครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะมีพี่น้อง 10 คน ที่ต้องช่วยพ่อแม่ดูแล แต่ด้วยเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ดี ทำงานหาเช้ายังไม่พอกินถึงค่ำ ต้องตื่นแต่เช้ามาเพื่อหุงหาอาหาร และเดินทางข้ามจังหวัดไปซื้อปลามาขายที่ตลาดเมืองพะอันจนถึงค่ำมืด

ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาพุทธอย่างมั่นคง แม้ไม่มีเงินทำบุญก็ใช้แรงงานทำบุญ ใช้เวลากลางคืนหลังเลิกงานไปทำถนนวัด ฤดูเพาะปลูกข้าวก็จะไปช่วยเพื่อนบ้านทำนา ไม่ได้ค่าแรงเป็นเงิน แต่จะต้องรอครึ่งปีเพื่อได้แบ่งข้าวมากิน จนอายุได้ 18-19 ปี เธอก็ตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย โดยการจ่ายเงินให้นายหน้าพาข้ามมาหางาน แม้พ่อของเธอจะทักท้วง แต่เธอคิดว่าเศรษฐกิจพม่าไม่ดี ตัวเองไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็ไม่มีงานทำ จึงคิดว่ามาหางานที่ไทยน่าจะดีกว่า เพราะค่าเงินไทยใหญ่กว่าพม่า

"ตอนนั้นคิดว่าที่บ้านลำบากขนาดนี้ บางทีหาหนึ่งวัน กินหนึ่งวันยังไม่พอ ก็เลยอยากจะมาเมืองไทย มาช่วยพ่อแม่ ไปทำงานที่อื่น ได้ยินเพื่อนบอกว่าถ้าไปเมืองไทยมันก็จะดีขึ้น มันจะมีงานทำทุกวันแล้วก็เงินไทยก็จะใหญ่กว่าพม่าอย่างนี้ค่ะ" นัน มาไว กล่าว

เดินเท้าข้ามเขา 8 วันมุ่งสู่ชีวิตที่ดีกว่า

เคธี่ เปิดเผยว่า ตอนนั้นเดินทางไปกับเพื่อนผู้หญิง 1 คน และที่เหลือเป็นผู้ชายหมด เดินเท้าข้ามเขาจากเมียวดีถึงนครสวรรค์ โดยแบกข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหม้อข้าวไปหุงในป่า แต่เดินเท่าไรก็ไม่ถึงจุดหมาย เธอไม่อยากกินข้าว อยากเดินให้ถึงที่หมาย และร้องไห้ทุกคืนเพราะคิดถึงคนที่บ้าน และหวนคิดถึงคำพูดพ่อที่ห้ามไม่ให้มา แต่ก็สายเกินไป เธอทำได้แค่เดินไปเรื่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน จนถึงนครสวรรค์ ต้องหลบอยู่ในไร่มันสำปะหลังหลายชั่วโมงเพื่อรอให้ค่ำ แล้วจึงขึ้นรถมากรุงเทพฯ

เธอเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน ไม่รู้ภาษาไทยเลย จำได้แค่ประโยคเดียวที่พ่อสอนไว้ว่า "พี่ๆ นี่อะไรคะ?" เอาไว้ถามและจำศัพท์ภาษาไทย เพราะพ่อเคยข้ามมาทำงานที่ประเทศไทยมาก่อน เธอบอกว่าโชคดีที่คนไทยที่มาทำงานแม่บ้านด้วยกันช่วยสอนงาน แต่ก็ต้องเจอกับเจ้านายที่ไม่ดี คือ ให้ทำงานตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อน

เธอบอกว่าเจ้านายของเพื่อนบางคน ไม่ให้ทอดไข่กิน เพราะเปลืองแก๊ส แม้จะซื้อไข่มาเอง หรือบางคนก็ให้ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด แม้ว่าจะป่วยเป็นโควิด-19 ก็ไม่ให้หยุดพักรักษาตัว หรือเคยได้ยินเพื่อนเล่าว่าเจ้านายบอกว่ากลัวลูกน้องจะทำร้ายเขา กลัวลูกน้องจะขโมยเงิน แต่เคธี่อยากบอกว่า

"ทุกคนเขาก็อยากทำงานดีๆ ให้เจ้านายชอบ ให้เจ้านายภูมิใจ ไม่ได้คิดว่าจะมาฆ่าจะมาขโมย แค่อยากมาทำงานที่เมืองไทย ได้เงินเดือน จะได้ส่งให้พ่อแม่ พ่อแม่จะได้สบาย แค่นั้น" เธอกล่าว

เคธี่ กล่าวย้ำด้วยว่า คนกะเหรี่ยง คนพม่า เวลาเข้ามาทำงานที่ไทย เขาก็อยากให้เจอเจ้านายดีๆ พอเจอเจ้านายดีๆ มีงานเยอะแค่ไหนก็ได้ อะไรก็ได้ ไม่เกี่ยง จะได้ทำงานมีความสุข

หลายครั้งที่เธอถูกล้อว่าพูดไม่ชัด ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือมีคนมาถามว่าเป็นพม่าใช่ไหม เธอก็ตอบไปตรงๆ ว่าเป็นกะเหรี่ยง ยังพูดไม่ค่อยเก่ง ถ้ามีอะไรที่พูดผิด หรือว่าพูดไม่ถูกก็บอกด้วย จะได้ปรับปรุง และเธอก็จะตั้งใจทำงาน โดยหวังว่าให้ลูกค้ามีความสุข โดยเฉพาะเมื่อมาทำงานร้านชุดเจ้าสาว แม้เขาจะล้อเรา แต่พอเขาพอใจในการบริการ ใส่ชุดแล้วมีความสุข เราก็มีความสุข แล้วเขาก็จะมองข้ามสำเนียงเราไปเอง เธอบอกว่าแม้เธอจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เธอก็ทำงานได้ เลี้ยงพ่อแม่ได้

เจ้านายดี ชีวิตเปลี่ยน เก็บเงินสร้างบ้านให้แม่

เคธี่ ยอมรับว่า การได้เจ้านายที่ดีเหมือนถูกหวย ชีวิตเปลี่ยน เขาพาไปเปิดบัญชี พาไปเที่ยว พาไปกิน สอนการใช้ชีวิต มีเงินเก็บส่งให้ที่บ้านมากขึ้น จนสามารถซื้อที่ดินและปลูกบ้านให้แม่ได้ราคาประมาณ 5 ล้านบาท เธอเล่าว่าเมื่อก่อน อยู่บ้านที่ทำจากไม้ไผ่และหลังคามุงใบไม้ ถึงเวลา 2 ปีก็ต้องย้ายไปปลูกบ้านใหม่เรื่อยๆ แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องไปอาศัยที่ดินของคนอื่นอยู่เหมือนเมื่อก่อน มีบ้านของตัวเองที่ใหญ่พอสำหรับทุกคนในครอบครัว แถมมีเงินไปทำบุญ หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ไม่ต้องเอาแรงไปช่วยทำถนนเอาบุญเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งเวลาเพื่อนบ้านขัดสน เอาที่ดินมาขาย เธอก็ช่วยรับซื้อไว้

เธอเล่าว่าตลอดเวลา 19 ปีที่ อยู่ในประเทศไทย เธอเรียนรู้ภาษาไทยและรักที่จะทำงานอยู่ในประเทศไทย ในทางกลับกัน เจ้านายเองก็รักและไว้ใจเธอมาก เพราะเขาเห็นเธอเป็นเหมือนคนในครอบครัว ให้เธอดูแลกิจการร้านชุดเจ้าสาว บางครั้งที่เจ้านายไปต่างประเทศเป็นเดือนๆ ก็มอบหมายให้เธอดูแลเงินทองในร้านเป็นหลักแสนหลักล้านก็มี ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่อย่างดี เธอเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วทุกคนเหมือนกัน ต่างกันแค่หน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ของเราให้ดี ให้เต็มที่ก็จะได้รับความไว้วางใจ และเจริญในหน้าที่การงาน

"พี่เคคิดว่าคนทุกๆ คน มันก็เหมือนๆ กัน ต่างกันแค่หน้าที่ เจ้านายก็คือเจ้านาย ลูกน้องก็คือลูกน้อง แต่ว่ามันแตกต่างกันแค่หน้าที่อย่างเดียวที่ไม่เหมือนกัน" นัน มาไว กล่าว

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ 19 ปีในไทย ลูกจ้างชาวกะเหรี่ยงเก็บเงิน 5 ล้านสร้างบ้านให้แม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook