ปิดฉากมหากาพย์ 10 ปีคดีทุจริตโรงพักร้าง 396 แห่ง

ปิดฉากมหากาพย์ 10 ปีคดีทุจริตโรงพักร้าง 396 แห่ง

ปิดฉากมหากาพย์ 10 ปีคดีทุจริตโรงพักร้าง 396 แห่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษายกคำร้องคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยจำเลยที่ 2 คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 - 4 คือ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 5 คือ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และจำเลยที่ 6 คือ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักทดเเทน 396 แห่งทั่วประเทศ

ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 6

ศาลมีความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบตามหลักการที่หน่วยงานราชการเสนอเท่านั้น ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ประกอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงแหล่งรายได้จากหลักทรัพย์เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานรักษาการณ์ ผบ.ตร. ได้ใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบตามระเบียบ ครม. การจัดทำรูปแบบ แนวทาง รวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงาน จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จำเลยที่ 3 - 4 เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคาฯ ตามลำดับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ครม. ในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในการเสนอราคา แม้ว่าจำเลยที่ 3 - 4 ไม่ได้เสนอบัญชีปริมาณวัสดุให้ครบถ้วน แต่ราคาทั้งหมดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในภาพรวม และจำเลยที่ 5 เป็นผู้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเอง เมื่อพิจารณาเอกสารความเห็น ย่อมไม่เกิดความเสียหายและไม่ปรากฏว่าพบว่าจำเลยที่ 3 - 4 แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การกระทำจึงไม่เป็นความผิด

ส่วนจำเลยที่ 5 - 6 โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 - 4 กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 - 6 กระทำความผิดด้วย ทำให้มติเสียงข้างมากพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 - 6

อดีต กปปส. แห่ให้กำลังใจ! สุเทพ ลั่น ตุลาการเป็นที่พึ่งบ้านเมือง

ท่ามกลางผู้ที่มาให้กำลังใจมากมาย อาทิ อดีตแกนนำ กปปส. ได้แก่ ถาวร เสนเนียม, สกลธี ภัททิยกุล, ณัฐพล ทีปสุวรรณ, ทยา ทีปสุวรรณ, ชุมพล จุลใส, ชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.พรรคประชารัฐ และมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง ได้แก่ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์, เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์, สุเนตตา แซ่โก๊ะ นอกจากนี้ยังมี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานรัฐสภา และเชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี

สุเทพ ให้สัมภาษณ์หลังจากศาลฎีกามีคำสั่งยกฟ้องว่า ตัวเองต้องตกอยู่ภายใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต เกือบ 10 ปี อดทนอดกลั้นและอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และรู้ว่าเราตั้งใจทำความดีให้กับชาติบ้านเมือง และประชาชน จะได้รับการคุ้มครอง

"ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็นสามฝ่าย อำนาจตุลาการของศาล ยังเป็นที่พึ่งหลักของบ้านเมืองได้ คนที่ยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในระบบขอให้มีกำลังใจ ที่ทนทุกข์ทรมานใจมานาน ตอนนี้หมดทุกข์ หมดโศก พ้นเคราะห์ จะเดินหน้าทำงานให้กับประเทศชาติและประชาชนตามอุดมการณ์ต่อไป ในชีวิตของตนทุ่มเททำงานให้กับบ้านเมืองและประชาชนด้วยความสุจริต ไม่มีใจที่จะคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน ไม่ใช่คนทุจริตคอรัปชั่น ทุกอย่างได้พิสูจน์แล้ว ใครที่เคยกล่าวหาโจมตี ตนขออโหสิให้"

ก่อนที่จะนำพวงมาลัยที่เตรียมมาไปไหว้ศาลหลักเมือง ไหว้พระแก้วมรกต เพราะก่อนหน้านี้เวลาต่อสู้คดีก็ได้ตั้งสัตย์อธิษฐาน ใช้ความจริงในการต่อสู้ ไม่ได้คิดหรือว่าโทษอะไรใครทั้งสิ้น

10 ปีคดีโรงพักร้างกับความเสียหายเกือบ 6 พันล้านบาท

คดีโรงพักร้าง เริ่มจากการอภิปรายในสภาฯ ปี 2555 ขณะที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ที่อภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลในการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ตั้งแต่ปี 2552 รวมมูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท

เหตุนี้นำไปสู่การดำเนินการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวบรวมพยานหลักฐานและเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน เนื่องจากการก่อสร้างเริ่มเมื่อเดือนมีนาคม 2554

แต่เมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญาปี 2556 การก่อสร้างโรงพักกลับไม่คืบหน้า พื้นที่ก่อสร้างหลายแห่งผู้รับเหมาต่างทิ้งงาน ทำให้ตำรวจในพื้นที่ต้องไปเช่าสถานที่อื่นทำงานแทน ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างถูกทิ้งร้าง หลายแห่งมีแค่เสากับพื้นปูน จนพบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างรวมกันจากส่วนกลางในครั้งเดียวกับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด นำไปสู่การกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ในเดือนตุลาคม 2556 DSI พิจารณาพยานหลักฐานไม่พบการกระทำผิดของบริษัทคู่สัญญา และอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง แต่ไม่ใช่การหลอกลวง

ส่วนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงดำเนินต่อมาเป็น 10 ปี ก่อนจะมีคำตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 6

 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ปิดฉากมหากาพย์ 10 ปีคดีทุจริตโรงพักร้าง 396 แห่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook