พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยิ้มกว้างรับคำสัพยอกของประธานสภาสามัญชน

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยิ้มกว้างรับคำสัพยอกของประธานสภาสามัญชน

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยิ้มกว้างรับคำสัพยอกของประธานสภาสามัญชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมพระราชินีคามิลลา ได้ไปยังอาคารรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก เพื่อรับฟังการแถลงโดย ลอร์ดจอห์น แม็คฟอลล์ ประธานสภาขุนนางและเซอร์ ลินซีย์ ฮอยล์ ประธานสภาสามัญ ที่กล่าวสดุดี พร้อมคำไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในนามของสมาชิกสภาขุนนาง และสมาชิกสภาสามัญในฐานะสมาชิกนิติบัญญัติรวม 900 คน ที่ได้กล่าวปฏิญาณต่อกษัตริย์องค์ใหม่

ในระหว่างที่เซอร์ลินซีย์ ฮอยล์ ประธานสภาสามัญกำลังกล่าวสดุดี พร้อมคำไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อยู่ตอนหนึ่ง เซอร์ ลินซีย์ ฮอยล์ ได้กล่าวถึงครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มาร่วมฉลองวันครบรอบ 300 ปีของการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ (The Glorious Revolution) ที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้ พร้อมกับสัพยอกว่า

"ในครั้งนั้นบางทีดูเป็นความเป็นอังกฤษอย่างมากทีเดียวที่มีการฉลองการปฏิวัติด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมเด็จพระราชินีนาถ"

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงยิ้มกว้างอย่างขำๆ เมื่อมีการกล่าวถึงการฉลองการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ขับไล่พระเจมส์ที่ 2 ออกจากบัลลังก์และการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์คือที่มาแห่งการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอังกฤษ ทำให้กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์

เซอร์ ลินซีย์ ฮอยล์ (กลาง) เดินผ่านสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 (ซ้าย)John Sibley - WPA Pool/Getty Images

พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 มีพระราชดำรัสตอบต่อที่ประชุมของรัฐสภา โดยทรงกล่าวขอบใจประธานสภาขุนนางและประธานสภาสามัญ ซึ่งกล่าวสดุดีพระราชกรณียกิจต่างๆ ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาของพระองค์อย่างครอบคลุมลึกซึ้งถึงสิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีความหมายต่อพวกเราทุกคน ต่อจากนั้นพระเจ้าชาร์ลลส์ที่ 3 ยังได้กล่าวว่า

"รัฐสภาคือเครื่องมือที่มีชีวิตและลมหายใจสำหรับประชาธิปไตยของพวกเรา"

สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมรัฐสภาของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565Dan Kitwood/Getty Imagesสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมรัฐสภาของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565

และยังให้คำมั่นว่า พระองค์จะสืบสานรอยพระบาทของพระราชมารดา และทำงานเพื่อความผาสุกของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ สำหรับการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "การปฏิวัติปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231 ตรงกับสมัยพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา)" คือการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษผู้นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเหล่ารัฐสภานิยมขุนนางอังกฤษ กับ เจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์ ชาวเนเธอร์แลนด์ผู้เป็นลูกเขยของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 นั่นเอง

เจ้าชายวิลเลียมยกกองทัพเรือมาบุกเกาะอังกฤษซึ่งพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ก็ส่งกองทัพมาต่อต้านแต่ปรากฎว่าเจ้าหญิงแอนน์ พระธิดาอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับจอห์น เชอร์ชิล แม่ทัพอังกฤษ กลับมาเข้าข้างเจ้าชายวิลเลียม ทำให้พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ต้องหนีไปอยู่ฝรั่งเศส และเจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษร่วมกับพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ พระชายา (ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 นั่นเอง) โดยครองราชย์ร่วมกันโดยมีเจ้าหญิงแอนน์เป็นรัชทายาท

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ยังถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอังกฤษ ทำให้กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่นั้นมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook