บวช-ทำบุญอุทิศให้คนต่างศาสนา ได้บุญจริงหรือ?
ตั้งแต่กรณีการบวชอุทิศส่วนกุศลให้แตงโม นิดา มาจนถึงวัดไทยในลอนดอนทำบุญให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในโลกออนไลน์ว่า "การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนต่างศาสนา ผู้ตายจะได้รับบุญหรือไม่?"
ทีมข่าว Sanook พูดคุยกับนักวิชาการอิสระ "จตุรงค์ จงอาษา" ผู้ที่ทำงานด้านพหุศาสนามาเกือบทั้งชีวิต เขาเริ่มเล่าว่า ที่จริงแล้วการทำบุญอุทิศส่วนกุศลข้ามชาติหรือศาสนาก็มีอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ของแปลกใหม่ เช่น พิธีกงเต็กหลวงตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง การประกอบศาสนกิจของชาวคริสต์ ทั้งคริสเตียนและคาทอลิก หรืออิสลาม ให้กับรัชกาลที่ 9 หลังสวรรคต การจัดงานศพแบบไทยพุทธที่อังกฤษของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา หรือมาจนถึงการจัดงานศพให้สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร ที่วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคนที่จากไป เป็นพิธีกรรมที่ขึ้นอยู่กับฐานะและหน้าที่ของผู้ตายด้วย แต่ถามกลับว่าแล้วพิธีศพเหล่านี้ โดยเฉพาะพิธีแบบพุทธจัดเพื่อคนเป็นหรือคนตาย?
จตุรงค์ เล่าต่อไปว่า พิธีการเหล่านี้ทำเพื่อคนเป็นให้เห็นตัวอย่างในชีวิตว่าทุกคนเกิดมาต้องตาย การที่เรานิมนต์พระมาสวดเวลามีคนตาย ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งให้พระรู้จักพิจารณาในการปลงอสุภะทำกรรมฐาน แต่มันไม่ใช่การสวดเพื่อให้ศพไปสวรรค์
"ความจริงกับความเชื่อ ความเชื่อต่อให้มันจะไม่จริงแค่ไหน แต่ถ้าคุณเชื่อไปแล้วให้ตายยังไงมันก็คือความจริง แต่ในทางกลับกัน ความจริง ต่อให้มันเป็นความจริงแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่เชื่อ ให้ตายมันก็ไม่ใช่ความจริงของคนไม่เชื่อ" จตุรงค์ กล่าว
แล้วบุญนั้นจะไปตกที่ใคร?
จตุรงค์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วการทำบุญเป็นไปเพื่อความสบายใจของผู้ทำ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้ตายจะอยู่ในภพภูมิไหน ได้รับหรือไม่ ฟังภาษาบาลีที่พระสวดออกหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดแล้วบุญกรรมของใครก็ของมัน ใครทำอะไรก็ได้ผลกรรมอย่างนั้น ไม่มีอะไรการันตีว่าทำบุญให้ใครแล้วเขาจะได้บุญ
แต่หากมองตามความเชื่อในทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าผู้ตายจะนับถือศาสนาใด บุญที่เราทำให้จะส่งผลไปถึงผู้รับที่เป็นเปรตอยู่ในกลุ่มปรทัตตูปชีวีที่สามารถอนุโมทนาบุญจากการทำทาน ใส่บาตรได้เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างเฉพาะเจาะจง การทำบุญจึงเหมือนการซื้อประกันที่คนตาย หากเกิดเป็นเปรตกลุ่มนี้ก็ได้รับบุญ แต่ถ้าเกิดในนรก หรือสวรรค์ หรือโลกมนุษย์ก็ต้องเสวยกรรมของตนเอง ไม่ได้รับบุญนี้ หรือถ้ายิ่งนิพพานไปแล้วก็ยิ่งไม่มีทางได้รับบุญนี้ ดังนั้นการทำบุญในศาสนาพุทธอีกจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อสืบทอดศาสนาเท่านั้น ส่วนผลบุญใครทำคนนั้นก็ได้
"อย่างพระพุทธเจ้า คุณเอาข้าวใส่พานถวายพระ จุดธูปไหว้พระ คุณมั่นใจเหรอว่าของจะถึงพระพุทธเจ้า เปล่า พระพุทธเจ้าท่านก็ไปนิพพานแล้ว แต่ถามว่าเราให้เพราะเรายังนึกถึงคำสอนท่าน ระลึกถึงท่านหรืออะไรก็แล้วแต่ ถึงบอกว่าการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไม่ว่าแพลตฟอร์มใดก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของผู้อยากจะให้ ผู้ที่อยากระลึกถึงคนที่จากไปมากกว่า" จตุรงค์ กล่าว
ขอพรแล้วต้องได้ผล? แผ่เมตตาแล้วกันผี?
"เราทำบุญหรือเราทำบาป เราเลือกที่จะทำหรือเลือกที่จะให้จากประโยชน์ที่มันได้ต่อตัวเองและสังคม แล้วคนอื่นไม่เดือดร้อนดีกว่า ไม่ใช่เพราะหวังบุญ กอบโกยบุญ คุณก็จะกลายเป็นพวกโลภบุญไปอีก"
จตุรงค์ กล่าวก่อนที่จะอธิบายต่อไปว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าทำบุญแล้วต้องได้ผล เช่นการขอพรพระต้องได้ผลตามที่ขอ ไม่อย่างนั้นจะไม่นับถือ จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคำว่า "พระให้พร" ภาษาทางการมันคือ "อนุโมทนาวิธี" ตั้งแต่บทสวดยะถา-สัพพี-ภวตุสัพ ต่างพูดถึงการอนุโมทนาเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับการแผ่เมตตา หลายคนเชื่อว่าจะสามารถไล่ผี ไล่ศัตรู แต่จริงๆ แล้วมันคือ การสอนตัวเองให้รู้จักปล่อยวางหรือคลายจากสิ่งที่ยึดถือ จากสิ่งที่เก็บมาโกรธเคือง มันไม่ใช่คาถาไล่ผี หรือการอวยพรใครด้วยซ้ำ แต่มันคือการสอนตัวเองให้เกิดปัญญา
ในทางกลับกัน จตุรงค์มองว่าทุกวันนี้ ผู้คนใช้ศาสนาไปในจุดประสงค์อื่นๆ เช่น สร้างเครือข่าย หรือหาผลประโยชน์ บางคนใช้การบวช การเป็นเจ้าภาพงานศพ การจัดงานศพ การอุทิศส่วนกุศล การไปงานศพ เพื่อเอาไปลดหย่อนโทษทางกฎหมายในชั้นศาล หรือหวังผลทางคดีความ เรามักจะเห็นว่าเวลาอัยการจะสั่งฟ้องคดีอาญาของใครสักคนเกี่ยวกับเรื่องฆ่าคนตาย หรืออุบัติเหตุจากคดีต่างๆ เขาก็พยายามจะวิ่งเต้นให้กระบวนการบวชก็ดี กระบวนการทำบุญก็ดี กระบวนการชดใช้ ชดเชย เยียวยา ให้มันอยู่ภายในสำนวนมากที่สุด ศาลก็จะมานั่งดูในสำนวน เขามีความกลับตัวกลับใจ สำนึก ซึ่งการกระทำเหล่านี้มันไม่ได้เป็นบุญเป็นบาปกับใครเลย มันเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้รับการลดโทษ