ทาสแมวถูกใจสิ่งนี้ แห่กดไลก์ แมว "นวล" พรีเซนเตอร์โปรโมตงานเอเปค 2022
ทาสแมวแห่กดไลก์ อินสตาแกรมกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ภาพ “นวล” เหมียวเพศเมีย ในฐานะพรีเซนเตอร์โปรโมตเอเปค 2022
กลายเป็นโพสต์บนอินสตาแกรม @mfa_thailand ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มียอดกดไลก์และคอมเมนต์เยอะเป็นพิเศษ หลังจากมีการโพสต์ภาพ "นวล" แมวเหมียวเพศเมีย ในฐานะพรีเซนเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022
โดยอินสตาแกรม @mfa_thailand ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า "ภารกิจของนวลสัปดาห์นี้ คือการแถลงข่าวการจัดการประชุม APEC 2022 Thailand ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ นวลขอเชิญพี่ๆ ทุกคนมาร่วม "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล"
การเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศในเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อนำมาปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆให้แก่ภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงความพร้อมของไทยในการต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในยุคหลังการระบาดของ COVID-19
การประชุมเอเปคมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ นวลจึงอยากเชิญชวนพี่ๆ ทุกท่านมาเป็นเจ้าบ้านที่ดีและสนับสนุนให้การประชุมเอเปคในปีนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีกันนะค้า"
ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวถูกใจทาสแมวไปเต็มๆ ยอดไลก์ของโพสต์พุ่งเกือบ 1,000 ไลก์ มากเป็นอันดับต้นๆ โดยชาวเน็ตต่างเข้ามาคอมเมนต์รวมถึงให้กำลังใจแมวนวลมากมาย อาทิ งื้ออออ… นวลน่ารักมากค่ะ, รองนวลฯ สู้ๆ และ น่ารักมากเลยลูก
สำหรับการประชุมเอเปคระดับผู้นำจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จะเข้าร่วมการประชุมที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ส่วนนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากไทยในปี 2023 แจ้งว่าไม่สามารถร่วมงานได้ เนื่องจากติดภารกิจ และได้ส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีมาร่วมแทน
สำหรับวาระเอเปคที่ไทยผลักดันแบ่งเป็น 3 ข้อหลัก ได้แก่
- ความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทยุคหลังโควิด-19 โดยได้เริ่มจัดทำแผนงานขับเคลื่อนการหารือเรื่อง FTAAP ในระยะยาวภายใต้ 3 เสาหลักความร่วมมือ คือ การค้าการลงทุน นวัตกรรมและดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน
- การส่งเสริมความเชื่อมโยงการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกและปลอดภัย และการหารือถึงกิจกรรมที่ยังต้องเจรจาต่อไป เช่น การขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น
- การจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG ด้วยการจัดประชุมวาระพิเศษเพื่อรับฟังความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจฯ เพื่อปรับปรุงเอกสารฉบับนี้ให้พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนนี้
งานแถลงข่าวผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปลาย ส.ค.ที่ผ่านมา
เอเปค มีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และรัสเซีย รวมถึงชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจแตกต่างกัน อาทิ ปาปัวนิวกินี โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง
เอเปค มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีรวมกันราว 1,700 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของจีดีพีโลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ