นักสำรวจมุดชม "ค้างคาว" ในโพรงต้นไม้ ช็อก สูดเชื้อราเข้าปอด หมอล็อตลงพื้นที่แล้ว
นักสำรวจมุดชม "ค้างคาว" ในโพรงต้นไม้ ช็อก สูดเชื้อราเข้าปอด หมอล็อตลงพื้นที่แล้ว เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจ
ตามที่มีรายงานข่าวการเกิด Histoplasmosis ของคณะกลุ่มศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ที่ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด
(5 ต.ค.65) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับทีมอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง มูลค้างคาวและดินภายในโพรงต้นไม้ และสวอปผนังโพรงต้นไม้ดังกล่าว เพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ และวางแผนที่จะทำการสำรวจและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในพื้นที่
พร้อมกันนี้ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงได้ทำการตีแนวเส้นล้อมจำกัดพื้นที่รัศมี 10 เมตร เพื่อป้องกันคนเข้าใกล้ต้นไม้หรือเข้าไปในโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ และเตรียมกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ ในการให้ความรู้ และป้องกันไม่ให้ค้างคาว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือเคลื่อนย้ายถิ่น จากการสำรวจต้นไม้ พบว่าเป็นช้าม่วง ขนาดใหญ่ อายุกว่าร้อยปี ด้านนอกมีโพรงขนาดคนเข้าไปได้ ข้างในเป็นเป็นโพรงขนาดใหญ่ คนเข้าไปได้ประมาณ 7 คน และมีค้างคาวอาศัยอยู่ เช่น ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก โดยสภาพแวดล้อมในโพรงต้นไม้ เหมาะแก่การอาศัยของค้างคาว และการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราชนิดต่างๆ ซึ่งอุณหภูมิ ความชื้น มีช่องทางเข้าออกทางเดียว ลมไม่พัดผ่าน โอกาสที่จะพบความเข้าข้นของเชื้อราในอากาศจะสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เหมาะสมเป็นอย่างมากกับการเจริญเติบโตของเชื้อ เมื่อคนเข้าไป ในช่วงกลางวัน ซึ่งค้างคาวกำลังนอนพักนั้น การส่งเสียงดัง การถ่ายภาพ แสงแฟลช การส่องไฟ จะทำให้ค้างคาวตกใจ เครียด อึ ฉี่ และส่งเสียงร้อง ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ฟุ้งกระจายในโพรงได้
หากคนเข้าไป แล้วไม่ใส่หน้ากาก ก็อาจสูดเอาเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไปได้ หรือถึงแม้ว่าใส่ ก็อาจทำให้ร่างกายปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งจากค้างคาว อาจเกิดโรคขึ้นมาได้ โดยทางทีมคณะทำงาน กรมอุทยานฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย โรงพยาบาลทุ่งสง และหน่วยงานสาธารณสุขเขต และจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยงานปกครองท้องถิ่นต่างๆร่วมบูรณาการภายใต้กรอบ ”สุขภาพหนึ่งเดียว” เข้าพูดคุย และแนะนำแนวทางปฎิบัติให้แก่ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ ถึงข้อควรระวัง และหากเคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปพบแพทย์ เพื่อเอ็กซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า มีประวัติการคนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ถึงติดเชื้อรา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา
กรมอุทยานฯ ได้จัดทำคู่มือความรู้ “การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย” แจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อตื่นรู้ และระมัดระวังในการดำเนินชีวิตภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ ขอบพระคุณ นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สนับสนุนภารกิจและประสานงานในทุกๆด้านครับ