ลุ้นคดี7.6หมื่นล้าน22ธ.ค.นี้! กล้านรงค์-สุรเกียรติ์ หมัดน็อก
"สุรเกียรติ์-กล้านรงค์" สองพยานปากสุดท้าย ขึ้นเบิกความเป็นพยานอัยการผู้ร้อง 22 ธ.ค. ปิดฉากคดียึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน เผย "สุรเกียรติ์" เตรียมแฉ "รัฐบาลทักษิณ" สั่ง "เอ็กซิมแบงก์" ปล่อยกู้พม่า 4 พันล้าน เอื้อธุรกิจชินแซทฯ ทักท้วงแล้วแต่ก็ไม่ยอมฟัง ส่วน "กล้านรงค์" เตรียมขึ้นเบิกความ ชี้ "ทักษิณ" ใช้ "วินมาร์ค-แอมเพิลริช" เป็น "นอมินี" ถือหุ้นชินคอร์ป
งวดเข้ามาทุกขณะแล้วสำหรับคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการไต่สวนพยานผู้ร้องของอัยการ 2 ปากสุดท้ายของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลทักษิณ และนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ คตส. ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้
ประเด็นที่นายสุรเกียรติ์จะเบิกความต่อศาล คือ กรณีที่ "ครม.ทักษิณ อนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ จำนวน 4,000 ล้านบาท โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อธุรกิจของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ท้วงติง พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมฟัง
ส่วนประเด็นที่นายกล้านรงค์จะเบิกความต่อศาลมี 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องหุ้นชินคอร์ป ว่าเป็นของใคร และ 2.เรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น
สำหรับประเด็นเรื่องหุ้นนั้น อัยการจะซักถามนายกล้านรงค์ถึงพฤติการณ์ของการคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผ่านบริษัทที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ เช่น บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ บริษัท วินมาร์ค จำกัด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ "นอมินี" คือ "แอมเพิลริช" และ" วินมาร์ค" ในการถือหุ้นชินคอร์ปมาตลอดในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของบริษัทชินฯ นั้น มีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ คือ
1.การแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต
2.การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้ บริษัท ทศท จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) แบบบัตรเติมเงิน หรือ Prepaid Card ให้บริษัทเอไอเอสเป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25-30
3.กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป และเอไอเอส โดยแก้ไขให้เอไอเอสเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นที่มีผลให้เอไอเอสไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 18,970,579,711 บาท ให้แก่ บริษัท ทศท และ กสท
4.กรณีอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม ไอพี สตาร์ (IP STAR) การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เอื้อประโยชน์บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ชิน แซทเทลไลท์
5.การที่ ครม.ทักษิณอนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินเอ็กซิมแบงก์จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า จากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ในลักษณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
น่าสนใจว่า สำหรับนายกล้านรงค์ อัยการจะเน้นซักถามในประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้ "นอมินี" คือ "แอมเพิลริช" และ "วินมาร์ค" ในการถือหุ้นชินคอร์ป ส่วนเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินฯ นั้น เนื่องจากได้มี คตส.คนอื่นที่รับผิดชอบโดยตรงในแต่ละเรื่อง เบิกความไว้แล้ว อีกทั้งนายกล้านรงค์ก็ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนั้นๆ อัยการจึงไม่ได้เน้นซักถามนายกล้านรงค์ใน 5 เรื่องข้างต้น โดยอาจมีการซักถามบ้างในบางเรื่อง เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ในคดีเท่านั้น