อดีตหนุ่มผมบาง เผยเคล็ดลับผมดกดำ ไม่ใช่แค่ "งดสระผมครึ่งปี" อย่างที่ลือกัน!!
ชาวเน็ตแห่แชร์ หนุ่มจีนงดสระผมครึ่งปี เปลี่ยนจาก "หัวล้านเป็นผมดำ" ทำได้จริงหรือ?? ล่าสุดเจ้าตัวมาตอบแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ โซเชียลจีนมีการแชร์เรื่องของชายคนหนึ่ง ที่ยืนกรานจะสระผมด้วยน้ำเปล่าเป็นเวลาครึ่งปี จนกระทั่งเปลี่ยนตัวเองจาก "หัวล้านเป็นผมดกดำ" ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน ว่าเรื่องดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่???
กระทั่งล่าสุด ในช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ชายชื่อ "Wang Nan" อายุ 39 ปีอาศัยอยู่ในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นชายเจ้าของเรื่องไวรัลข้างต้น ได้ออกมาเปิดเผยว่า ชาวเน็ตบางคนอาจเข้าใจผิดไปไกล เนื่องจากการสระผมด้วยน้ำไม่ใช่เคล็ดลับทั้งหมด ที่เขาทำเพื่อจะเปลี่ยนคุณภาพผมของตนเอง แต่เขายังปรับกิจวัตรประจำวันและนิสัยการกินของเขาด้วย
โดยเขาเปิดเผยว่า เขาเป็นโรคผมร่วงจากฮอร์โมนแอนโดรเจเนติก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ผมร่วงจากฮอร์โมนแอนโดรเจน เมื่อก่อนเขาเคยเข้าสังคมบ่อยมาก อีกทั้งยังนอนดึก และดื่มสุราจนเป็นเรื่องปกติ และเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต เขาจึงตรวจพบว่าเลือดของตนเองนั้นไม่ได้มาตรฐาน
หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มหาข้อมูลต่างๆ อ่านงานวิจัยเยอะมากๆ รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการ เพื่อนำมาปรับใช้กับตนเอง และนับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2564 เขายังพยายามเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เสริมสร้างการออกกำลังกาย และลดการบริโภคน้ำตาลด้วย
"ตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ (2565) ผมได้พยายามสระผมด้วยน้ำ หลังจากสระผมประมาณครึ่งเดือน ก็ไม่รู้สึกมันหนังศีรษะมันเยิ้มอีกต่อไป หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ปรากฏว่ามีผมงอกขึ้นใหม่ในบริเวณที่เคยหัวล้าน”
ภรรยาของเขายังช่วยยืนยันด้วยว่า สามีได้ลดการสังสรรค์และดื่มเหล้า “วิธีการทำอาหารในครอบครัวของเราก็เปลี่ยนไป เช่นจากที่เคยทานอาหารประเภททอด ตอนนี้เน้นไปที่การนึ่งและต้ม ทำให้ฉันลดน้ำหนักตัวเองไปพร้อมกับเขาด้วย”
ขณะที่ทางด้าน Cai Xiang แพทย์ประจำแผนกโรคผิวหนัง ของโรงพยาบาล Wuhan Hospital of Traditional Chinese Medicine อธิบายว่า อาการผมร่วงจากฮอร์โมนแอนโดรเจน มักเรียกว่า seborrheic alopecia ซึ่งสัมพันธ์กับระดับแอนโดรเจนและพันธุกรรม
จากวิดีโอที่โพสต์โดย Wang Nan จะเห็นได้ว่าบริเวณผมร่วงยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีเส้นผมหนากว่าเดิม บางครั้งแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยบางรายงดใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูที่มีส่วนผสมของสารเคมี แต่โดยทั่วไปต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นผม อย่างไรก็ดี แนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาไปปรึกษาแพทย์และตรวจที่โรงพยาบาลโดยตรง