ทรัพยากรสาธารณสุขไทย มากพอไหมในการให้บริการด้านจิตเวช?
Highlight
- ปี 2564 โรคทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมีผู้ป่วย 622,172 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน
- เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ติด 10 อันดับแรกจังหวัดมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดทุกปี
- ปี 2564 จังหวัดที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก
- ปี 2564 กทม. มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากร 100,000 คนอยู่ที่ 4.90 ขณะที่ยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย
- สาเหตุของการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิต เกิดจากกระบวนการผลิตบุคลากรที่ใช้เวลานาน และการขาดแคลนอาจารย์แพทย์
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลง เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในปี 2564 ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา
สถิติการฆ่าตัวตายและจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนแต่เฉพาะสภาพสังคมที่ผันผวนเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงสถานการณ์สุขภาพจิตและกลไกส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ Rocket Media Lab จึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในประเทศไทย เพื่อตอบคำถามที่ว่า ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตถดถอยลง ทรัพยากรสาธารณสุขไทยที่เรามีอยู่นั้นเพียงพอต่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยหรือไม่
อัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า คนในโลกนี้ทุก 8 คน จะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้ง จะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่สำหรับคนวัยหนุ่มสาวช่วงอายุ 15-29 ปี ทุกการเสียชีวิต 100 ครั้ง จะมีถึง 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย และในภาพรวม ทุก 1 การเสียชีวิตที่มาจากการฆ่าตัวตาย จะมีการพยายามฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง
ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับการรับมือ แม้หลายประเทศจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านทรัพยากรสาธารณสุข
ข้อมูลจาก Mental Health ATLAS 2020 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศอยู่ที่ 13 คนต่อแสนประชากร โดยที่แต่ละภูมิภาคมีช่องว่างห่างกันมาก และยิ่งเห็นได้ชัดระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำ โดยประเทศรายได้ต่ำมีบุคลากรด้านสุขภาพจิต 1.4 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศรายได้สูงมี 62 คนต่อแสนประชากร
หากพิจารณาเฉพาะจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 156 ประเทศ พบว่าค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 1.7 ส่วนของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 1.4 สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 0.4 และของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 0.3
ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลกคือ 4.7 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศไทย รายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อแสนประชากร
นอกจากนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์และไทยที่มีนักจิตวิทยาต่อประชากรคนมากกว่าค่ามัธยฐานโลก โดยสิงคโปร์มีมากกว่าไทยเกือบ 9 เท่า กล่าวคือไทยมี 1.57 คนต่อแสนประชากร ขณะที่สิงคโปร์มี 9.7 คนต่อแสนประชากร ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิต ในปี 2565 ระบุว่า มีนักจิตวิทยา 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร
สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1.3 ล้านคน เป็น 2.3 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ในรายงานการสูญเสียสุขภาวะปี 2556 ระบุว่า คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life years; DALYs) ซึ่งเป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย เท่ากับ 10.6 ล้านปี โดยชายไทยสูญเสียปีสุขภาวะไปกับโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากที่สุด ซึ่งเกิดจากภาวะการติดสุราหรือการดื่มแบบเป็นอันตราย โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท ในขณะที่หญิงไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากเป็นอันดับ 2 โดยเกิดจากโรคซึมเศร้า โรคความจำเสื่อม และโรคจิตเภท
สาเหตุนี้สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชรายโรคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ซึ่งรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวชจำแนกรายโรค ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม พบว่า ระหว่างปี 2558 - 2559 มีผู้ป่วยจิตเภท วิตกกังวล และซึมเศร้ามากเป็น 3 อันดับแรก ต่อมาในปี 2560 นอกจาก 3 โรคนี้แล้ว ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ติดแอลกอฮอล์ ติดสารเสพติดอื่นๆ สมาธิสั้น และโรคจิตเวชอื่นๆ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามสิทธิการรักษา จากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2556 - 2564 พบว่า จำนวนผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจาก 80,440 คนในปี 2556 เพิ่มเป็น 1,056,604 คนในปี 2559
ตัวเลขผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มโรคเพิ่มขึ้น 3 เท่าระหว่างปี 2559 กับ 2560 จาก 1,056,604 คนในปี 2559 เป็น 3,491,365 คนในปี 2560 และหากดูโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 78,592 คนในปี 2559 เป็น 259,467 คนในปี 2560
ทั้งนี้ ในปี 2564 โรคจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมี 622,172 คน จากผู้ป่วยโรคจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลมากขึ้น อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจังด้วย
จังหวัดภาคเหนือครองแชมป์อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ - อัตราผู้ป่วยจิตเวชสูงสุด
ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ให้ความเห็นเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่า เดิมทีอัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาตกงาน ขาดรายได้
เช่นเดียวกับข้อมูลจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ระบุว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2565 มีผู้รับบริการที่มีพฤติกรรมหรือมีความคิดฆ่าตัวตายถึง 1,554 ราย หรือเฉลี่ย 141 รายต่อเดือน
เมื่อพิจารณารายงาน 10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดระหว่างปี 2559 - 2563 จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน มักจะติด10 อันดับแรกทุกปี โดยแม่ฮ่องสอนติดอันดับที่ 1 มากถึง 3 ปี จากทั้งหมด 5 ปี
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่ข้อมูล จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด อับดับที่ 1 คือ แม่ฮ่องสอน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 17.44 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 2 คือ ตาก 15.46 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 3 คือ เชียงใหม่ 14.61 รายต่อแสนประชากร จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 จังหวัดนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าภาพรวมทั้งประเทศที่อัตรา 7.37 รายต่อแสนประชากร ประมาณ 2 เท่า
เมื่อสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก อยู่ระหว่าง 9,178.8 - 11,500.7 คนต่อแสนประชากร
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายประเด็นนี้ว่า มีงานศึกษาในพื้นที่หลายชิ้น ส่วนใหญ่สรุปว่า พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะส่วนที่คาบเกี่ยวกันภาคเหนือและภาคอีสาน สมาชิกในครอบครัวออกไปทำงานนอกพื้นที่ และมีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมาก ด้วยวัฒนธรรมและบ้านที่อยู่ห่างกัน ทำให้คนในชุมชนไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันมากนัก ต่างจากในภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ ที่ปลูกบ้านใกล้กัน มีกิจกรรมทำร่วมกันบ่อย จึงทำให้ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น
กรุงเทพฯ มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงที่สุด ยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย
Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจำนวนจิตแพทย์จากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 พบว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน เมื่อคำนวณอัตราส่วนเฉลี่ยจิตแพทย์เท่ากับ 1.30 ต่อแสนประชากร และจากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเข้าถึงทรัพยากรสาธารณสุขได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยมีจิตแพทย์ 4.90 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ปี 2564 จังหวัดยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย
สำหรับนักจิตวิทยา จากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 พบว่า ทั้งประเทศมีนักจิตวิทยา 729 คน เท่ากับ 1.10 คนต่อแสนประชากร และมี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย ได้แก่ ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง
ลำพูนมีอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อประชากรมากที่สุด
เมื่อพิจารณาเฉพาะโรคซึมเศร้า ตัวเลขการประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน โดยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2556 ผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 4,295 คน เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 9,522 คนในปี 2557 หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 78,592 คนในปี 2559 และเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ภายในปีเดียว ระหว่างปี 2559 กับ 2560 เพิ่มจาก 78,592 คน เป็น 259,467 คน ซึ่งอาจจะมาจากนโยบายเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข
ในปี 2564 หากเปรียบเทียบรายจังหวัดจากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เชียงใหม่ 22,493 คน นครราชสีมา 19,158 คนกรุงเทพมหานคร 15,676 คน อุบลราชธานี 12,752 คน และขอนแก่น 10,684 คน จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 715 คน
จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรมากที่สุดคือ ลำพูน 1,754.50 คน รองลงมาคือ สิงห์บุรี 1,366.57 คน ตามด้วยเชียงใหม่ 1,257.02 คน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรน้อยที่สุดคือ นครปฐม 236.72 คน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ที่นอกจากจะทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วย ทำให้ตัวเลขอาจไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ซึ่ง นพ.วรตม์อธิบายว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นมีตัวเลขแฝง 2 อย่าง หนึ่ง เพราะมีผู้ป่วยสูงจริงจากความเครียดและอาการเจ็บป่วยมากขึ้น หรือ สอง เพราะเข้ารับบริการและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น
ภาระของบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วย
เมื่อพิจารณาภาระความรับผิดชอบของบุคลากรสาธารณสุขต่อจำนวนผู้ป่วยในระดับภาค จะพบว่า จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 10,994 คน รองลงมาก็คือภาคตะวันตก ที่อัตราส่วน 1 : 6,540 คน และภาคใต้ 1 : 6,291 คน ในส่วนของภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 คน และภาคตะวันตก 1 : 639 คน
เมื่อพิจารณาจำนวนนักจิตวิทยา พบว่า นักจิตวิทยาในภาคเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยนักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 9,974 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 9,646 และภาคตะวันตก 1 : 6,291 สำหรับภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 และภาคตะวันตก 1 : 639
ในระดับจังหวัด จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาล และใช้แพทย์จากพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่ปัจจุบัน 2565 ยโสธรมีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแล้ว 2 คน หรือเท่ากับจิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช 18,643.5 คน รองลงมาก็คือจังหวัดศรีสะเกษที่จิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 34,811 คน ตามมาด้วยจังหวัดมุกดาหาร ที่อัตราส่วน 1 : 27,997
สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จิตแพทย์ 1 คน มีภาระในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,216 คน รองลงมาคือมุกดาหาร ที่อัตราส่วน 1 : 2,640 และศรีสะเกษ ที่อัตราส่วน 1 : 2,566
ภาระการดูแลผู้ป่วยของนักจิตวิทยานั้น จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง เป็นจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย รองลงมาคือจังหวัดเลย ซึ่งนักจิตวิทยา 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 52,717 คน ตามมาด้วยกำแพงเพชร ที่อัตราส่วน 1 : 46,296 และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังพบว่าจังหวัดเลย นักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,937 คน
ระบบการผลิตแพทย์เฉพาะทางติดขัด ส่งผลให้จิตแพทย์ไม่พอ
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทยยังคงขาดแคลนจิตแพทย์ ซึ่ง นพ.วรตม์อธิบายว่า สาเหตุมาจากการกระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยากและใช้เวลานานต้องรอจนกว่าแพทย์เรียนจบหลักสูตร 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี จึงจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี โดยผู้ที่ต้องการเป็นจิตแพทย์ต้องหาทุนมาเรียนเอง หรือมีต้นสังกัดออกทุนให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือหน่วยงานเหล่านี้เปิดรับ หรืออาจขอทุนจากโรงเรียนแพทย์บางแห่ง รวมทั้งสมัครขอทุนจากโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต หากได้ทุนก็ต้องไปสมัครที่โรงเรียนแพทย์อีกขั้นหนึ่ง เมื่อเรียนจบ กรมสุขภาพจิตจึงจะกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดที่ขาดแคลนจิตแพทย์
นอกจากนี้ ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือการขาดแคลนอาจารย์ โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ทำให้เพิ่มจำนวนได้ช้า เพราะคนที่อยู่ในระบบมีน้อย เนื่องจากสาขานี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในช่วงประมาณ 20 ปีก่อน เพิ่งจะได้รับความสนใจในช่วง 4-5 ปีนี้เอง การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์จึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม สาขาจิตเวชยังมีวิชาชีพอื่นทำงานอยู่ขนานไปด้วย เช่น นักจิตวิทยาคลินิกและพยาบาลจิตเวช แต่ปัจจุบันนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งทำงานในโรงพยาบาลโดยตรง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำหน้าที่ได้เกือบเท่าจิตแพทย์ยกเว้นสั่งยา ก็กำลังประสบปัญหาไม่เพียงพอเช่นกัน ซึ่งกรมสุขภาพจิตและสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาก็กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐานการให้บริการและการให้คำปรึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การรับรองวิชาชีพทางกฎหมาย แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอ ระเบิดเวลาปัญหาสุขภาพจิตไทย
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า นอกจากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในสังคมไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือการขาดแคลนการเข้าถึงการดูแลรักษาและการรองรับการดูแลรักษา เนื่องจากจำนวนบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในไทยนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาหรือได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ
ในภาพย่อย เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ระหว่างจังหวัดที่มีมากที่สุด กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ จะพบว่าแตกต่างกันหลายเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข สิ่งนี้ยิ่งซ้ำเติมผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ที่มีทรัพยากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ และเป็นโจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ไม่เพียงต้องป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
* หมายเหตุ: ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่รายงานทรัพยากรสาธารณสุข 2565 ซึ่งจำแนกข้อมูลรายจังหวัด รายงานชิ้นนี้จึงอ้างอิงจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากรายงานฯ ปี 2564