ทำไมคนไทยเป็น “สายมู” เพิ่มมากขึ้น?

ทำไมคนไทยเป็น “สายมู” เพิ่มมากขึ้น?

ทำไมคนไทยเป็น “สายมู” เพิ่มมากขึ้น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ความเปลี่ยนแปลงทางด้านปฏิบัติการทางศาสนาของไทย โดยเฉพาะการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ถูกเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • หลังภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ เครื่องมือที่รัฐบาลคิดว่าจะช่วยฟื้นประเทศขึ้นมาได้ คือการสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการในระดับเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการที่รับผิดชอบตัวเองในฐานะธุรกิจหนึ่ง
  • กระแสการให้คุณค่ากับการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดแนวคิด “อยากเป็นนายตัวเอง” คุณค่าของงานประจำลดลง รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร่ำรวย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความไม่แน่นอน” ที่เกิดขึ้น
  • ภาวะไม่แน่นอนที่เกิดจากรูปแบบเศรษฐกิจที่โลกเชื่อว่าเป็น “รูปแบบที่ดี” เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าแต่ละสังคมก็มีวิธีการหรือเครื่องมือที่แตกต่างกัน ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการหรือช่วยให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับภาวะที่ไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้
  • วิธีคิดแบบสมัยใหม่ทำให้มนุษย์มองโลกเหนือธรรมชาติ แยกกับโลกที่มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้ที่มองแบบนั้น สังคมวัฒนธรรมส่วนมากในโลก ที่ไม่ใช่แบบตะวันตก มองโลกแบบที่มีสิ่งอื่น ๆ ที่มนุษย์มองไม่เห็นอยู่ร่วมกับมนุษย์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการ “สายมู” ของไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องรางของขลังมากมายที่มาช่วยดลบันดาลให้ผู้ไหว้บูชาสมหวังดั่งใจหมาย งานวิจัย “การตลาดของคนอยู่เป็น” โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 คนไทยกว่า 52 ล้านคนหันมาเป็นสายมู และใช้ “ความเชื่อ” มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในสถานการณ์ที่ตัวเองรู้สึกถึงความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์สายมูที่เพิ่มมากขึ้น ถูกนำมาเป็นหัวข้อการศึกษาของนักวิชาการหลายศาสตร์ เช่นเดียวกับอาจารย์ณีรนุช แมลงภู่ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำวิจัยเรื่อง “ความเร่งทางศาสนา: พุทธศาสนาประชานิยมกับเวลาแห่งความแน่นอนที่หดสั้นลงในสังคมไทยปัจจุบัน” และ sanook ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ณีรนุช เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า “ทำไมคนไทยเป็นสายมูเพิ่มมากขึ้น?” 

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและศาสนา

อาจารย์ณีรนุชเริ่มต้นอธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงทางด้านปฏิบัติการทางศาสนาของไทย โดยเฉพาะการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ถูกเชื่อมโยงกับ “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” ของประเทศ ย้อนไปในช่วงปี 80s - 90s ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี มีธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย และ “เงิน” กลายเป็นสิ่งสำคัญ ต่อมาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้คนขาดที่พึ่งและเกิดความทุกข์ จึงหันไปพึ่งพา “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” และการทำบุญ โดยหวังผลเป็นความร่ำรวยและชีวิตที่มั่งคั่ง แต่หลังจากนั้นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมาอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ความหวังว่าจะร่ำรวยของคนในสังคมก็กลับมาอีกครั้ง

อาจารย์ณีรนุช แมลงภู่อาจารย์ณีรนุช แมลงภู่

“จุดที่น่าสนใจที่อาจจะบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ต่างกับสมัยก่อน ที่เป็นจุดพลิกผันของการมู คำอธิบายเชิงรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่ง ก็คือรัฐไทยหลังจากยุคสงครามเย็น มีการลดการควบคุมทางศาสนามากขึ้น ลดการผูกขาด การสร้างมาตรฐานของศาสนาที่ดี ศาสนาพุทธแท้ เพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่อะไรที่มันเปิดมากขึ้น จริง ๆ ก็มีความเป็นทุนนิยมมากขึ้น บริโภคนิยมมากขึ้น ดังนั้น เสรีภาพในการจะเลือกนับถือก็มีมากขึ้น แล้วก็หลากหลาย” 

“แน่นอนว่าเรื่องนี้ มันซับซ้อนกว่าที่จะเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดจากอำนาจข้างบน มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเราอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมอยู่ ๆ มันก็เกิดความหลากหลาย ทำไมอยู่ ๆ สิ่งที่ขอก็เริ่มจะไม่ใช่แค่ขอหวย ก็เริ่มจะไม่ใช่ขอให้สุขภาพดี ก็เริ่มจะไม่ใช่ขอแค่ว่าชาติหน้าขอให้ได้ไปสวรรค์ ตอนหลัง ๆ คำขอมันน่าสนใจ มันมีวันนี้ขอให้ทำยอดได้เท่านี้ ขอให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ขอให้ปัง ๆ” 

นโยบาย SME และการเพิ่มขึ้นของ “สายมู” 

“เราคิดว่าโมเมนต์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ที่ทำให้คนมาไหว้เยอะขึ้น ก็คือในช่วงหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากช่วงต้มยำกุ้งผ่านไป เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งในระดับนโยบายรัฐที่คิดจะช่วยฟื้นประเทศขึ้นมาได้ คือการสนับสนุน SME หรือการสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เขาเชื่อว่าเมื่อมีผู้ประกอบการไทยเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ การจ้างงานที่มากขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจก็จะฟื้น” 

“มันมีเขียนเป็นนโยบาย เป็นแผนพัฒนาด้วยซ้ำว่า ปีหนึ่งจะต้องเพิ่มจำนวน SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ ให้ได้มากเท่าไร ตอนนี้นโยบายนั้นก็ยังใช้อยู่ เพราะว่าผู้ประกอบการถูกมองว่า เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เศรษฐกิจเป็นไปได้ ตามรูปแบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ มันมีประโยชน์กับรัฐ เพราะว่าผู้ประกอบการเป็นทั้งผู้ประกอบการในระดับเจ้าของธุรกิจ ทั้งในระดับที่คุณเป็นฟรีแลนซ์ หรือผู้ประกอบการที่รับผิดชอบตัวเองในฐานะธุรกิจหนึ่ง ต้องเอาโปรเจ็กต์ไปเสนอ ถึงจะได้งานมา รับเป็นงาน ๆ ไป” 

ความคิดเรื่องชีวิตแบบผู้ประกอบการกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยรัฐเป็นคนให้คุณค่าเอง เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น ๆ เช่น หน่วยงานการศึกษา ที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนก็มุ่งเน้นเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กระแสการให้คุณค่ากับการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก สะท้อนจากแนวคิด “อยากเป็นนายตัวเอง” ของคนในห้วงเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับเด็กจบใหม่ไม่อยากทำงานประจำ คุณค่าของงานประจำลดลง คุณค่าของการเป็นข้าราชการลดลง รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร่ำรวย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความไม่แน่นอน” ที่เกิดขึ้นในสังคม

ที่พึ่งทางใจในสังคมที่ไม่แน่นอน

อาจารย์ณีรนุช ชี้ว่า ความไม่แน่นอนคือเหตุการณ์ที่คนเราไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชีวิตของเราไม่ได้เกิดที่เราคนเดียว แต่ชีวิตมีความซับซ้อนและต้องพึ่งพาปัจจัยอื่น ๆ มากมาย ที่ตัวเองก็ไม่สามารถไปควบคุมได้ว่ามันต้องเป็นอย่างไร เช่น เศรษฐกิจ การเมือง หรือโรคระบาด เป็นต้น 

“ความไม่แน่นอนกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เป็นของคู่กัน มันทำงานสะสมทุนได้ โดยอันแรกคือสร้างความไม่แน่นอน เราจะเห็นว่า แม้จะบอกว่ามันเป็นเศรษฐกิจที่น่าจะสร้างความมั่งคั่ง แต่มีคนจนมากขึ้น มีความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนที่ห่างออกมากขึ้น มันสร้างความไม่แน่นอนด้วยการผลักความรับผิดชอบชีวิตตัวเองมาที่แรงงาน ให้ต้องเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่มีอะไรมารองรับ เช่น การจ้างงานที่สั้นลง ประโยชน์ก็คือคนจ้างไม่ต้องคิดมาก ไม่อยากจ้างแล้ว ก็ไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องมีสวัสดิการ ก็ไปรับผิดชอบตัวเอง คนก็เปลี่ยนงานบ่อยขึ้นด้วยวิธีการจ้างงานแบบนี้ มันก็ทำให้เกิดภาวะอะไรบางอย่าง ที่แม้ว่าตอนนี้ชีวิตดี ก็ยังรู้สึกว่าอนาคตข้างหน้าจะยังไงนะ มันกลายเป็นสำนึกที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” 

ภาวะไม่แน่นอนที่เกิดจากรูปแบบเศรษฐกิจที่โลกเชื่อว่าเป็น “รูปแบบที่ดี” เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าแต่ละสังคมก็มีวิธีการหรือเครื่องมือที่แตกต่างกัน ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการหรือช่วยให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับภาวะที่ไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ 

“ในกรณีของไทยเอง เราก็อาจจะมองว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งการทำบุญชาวพุทธต่าง ๆ ก็อาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่มันก็อยู่กับเรา แล้วเราก็มีอยู่แล้ว มันถูกนำมาใช้เพื่อที่จะจัดการกับสิ่งที่เปลี่ยนไปในชีวิต หรือทำให้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น มันเข้าใจได้สำหรับเรา”

จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สู่ “สินค้า” ที่จับต้องได้

เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอน ก็ทำให้เกิดเป็น “สินค้า” ที่สามารถจับต้องได้ และเกิดเป็น “ตลาด” ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นในสังคมบ้านเรา 

“มีคำอธิบายจำนวนหนึ่งก็คือ เนื่องจากเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่คือการสร้างตลาดเยอะ ๆ อะไรก็ไม่รู้ เอามาขายได้หมดเลย ตัวเองไลฟ์ก็ขายได้ สร้างรายได้ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงเกิดตลาดมากมาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็กลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็น niche market ที่สามารถขายและสร้างกำไรได้” 

“เรามองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฐานะการปฏิสัมพันธ์ การสร้างความสัมพันธ์ แต่ว่าเรากำลังปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่เห็นได้ จึงเห็นได้ผ่านวัตถุ ดังนั้น ที่ต่าง ๆ ก็จะมีรูปเคารพมากมาย การมีรูปต่าง ๆ ของวัตถุเหล่านี้ มันจึงเป็นสิ่งยืนยันถึงการมีตัวตน มันสัมผัสได้ มันทำให้สิ่งที่มองไม่เห็น ความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็น กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เห็นและจับต้องได้ ของบูชา ของแก้บนใหญ่โตก็เช่นกัน มันทำหน้าที่ไม่ใช่แค่เป็นการตอบแทนบุญคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มันอาจจะมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น มันจับต้องได้ มันกลายเป็นสิ่งที่เห็นได้” 

เศรษฐกิจที่อยู่ได้บนความไม่แน่นอน

แม้สายมูหรือคนที่กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ จะถูกมองว่าเป็นคนงมงาย  แต่อาจารย์ณีนุชก็ตั้งคำถามว่า หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีจริง คนเหล่านี้จะกราบไหว้ให้เสียเวลาทำไม ทั้งนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ร่วมในชีวิตประจำวันกับผู้บูชา และอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน 

วิธีคิดแบบสมัยใหม่ทำให้เรามองโลกเหนือธรรมชาติ แยกกับโลกของเราที่เราอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้ที่มองแบบนั้น สังคมวัฒนธรรมส่วนมากในโลก ที่ไม่ใช่แบบตะวันตก มองโลกแบบที่มีสิ่งอื่น ๆ ที่เรามองไม่เห็นอยู่ร่วมกับเรา เป็นเพราะเขาเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีลำดับชั้น ระหว่างตัวเขาเองในฐานะมนุษย์ที่มีอำนาจเท่านี้ กับสิ่งที่เขามองไม่เห็น ที่เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจเหนือชีวิตเขาได้แน่นอน ดังนั้น การสื่อสารหรือการปฏิสัมพันธ์เพื่อให้แน่ใจ ว่าชีวิตเราจะโอเคนะ มันเป็นการยอมรับความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเรากับสิ่งเหนือธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นการเข้าใจว่า พวกเขาก็อยู่ร่วมกับเรา” 

“ลองจินตนาการนะ ถ้าเกิดสังคมไทย เสรีนิยมใหม่อันไม่แน่นอน ที่ความเหลื่อมล้ำสูง ที่ทุกคนแข่งขันแต่ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะหน้าตาเป็นยังไง ความเป็นผู้ประกอบการที่ขายกันทุกวัน มันยังจะน่าทำเท่ากับตอนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม ดังนั้น ถ้าสังคมไทยขาดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป คนจำนวนมากคงมีชีวิตและทำงานร่วมกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ หรืออาจจะเกิดการลุกฮือขึ้นมา แล้วก็เปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศนี้ให้เป็นแบบนารวม ไม่ใช่ ล้อเล่น” อาจารย์ณีรนุชปล่อยมุกทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook