เหยียบกันตายเฉียด 400 ศพ โศกนาฏกรรม ที่ไม่มีวันลืม
กลายเป็นเหตุสลดที่ทั่วโลกต่างเศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์เหยียบกันตายที่ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวเกาหลีใต้ ไปร่วมปาร์ตี้คืนวันที่ 29 ตุลาคม 65 ซึ่งจัดขึ้นก่อนวันก่อนฮาโลวีน ในย่านอินแทวอน ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้หลังสถานการณ์โควิดจึงมีการงดจัดปาร์ตี้ไป 3 ปี ทำให้ปีนี้มีมาร่วมงานกันเยอะมาก ซึ่งคาดว่าเกินแสนคน ทำให้ถนนแคบๆ มีผู้คนเบียดกันไปมาจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 153 ราย หนึ่งในนั้นเป็นคนไทย 1 ราย
แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่มีการเหยียบกันตายจนมีผู้เสียชีวิตเกินร้อยกว่าคน ซึ่งประเทศกัมพูชาเคยเกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายมาแล้วทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉียด 400 คน
ย้อนเหตุสลดคืนลอยกระทงเลือด สะพานมรณะคร่าชีวิตเกือบ 400 ศพ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ระหว่างงานเทศกาลน้ำ ที่เป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่จัดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำโตนเลสาบ เกาะเพชร กรุงพนมเปญ คล้ายงานลอยกระทงของประเทศไทย
ประชาชนชาวกัมพูชานับล้านคนจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองวันสุดท้ายของเทศกาลน้ำ ทั้งนี้งานเทศกาลน้ำถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปี จัดขึ้นช่วงสิ้นสุดฤดูฝน เป็นหนึ่งในงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่สุดของกัมพูชา
โดยเฉพาะการแข่งขันเรือยาว ซึ่งชาวกัมพูชานิยมชื่นชอบกันอย่างมาก
ส่วนการแสดงเด่นๆ ประกอบด้วยการแข่งเรือ จุดพลุไฟ และการแสดงคอนเสิร์ตบนเกาะเพชร เกาะกลางแม่น้ำโตนเลสาบ โดยประชาชนต้องใช้วิธีเดินเท้าข้ามสะพานไปยังเกาะเพื่อร่วมงานดังกล่าว
นาทีมรณะ หลังจากที่การแข่งขันเรือยาวรอบสุดท้ายยุติลง เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ฝูงชนกำลังเดินเบียดเสียดกันบนสะพานมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง ซึ่งในแต่ล่ะปีมีผู้คนนับล้านมาร่วมงาน เช่นเดียวกับปีนี้
และด้วยความตื่นตระหนกจากเหตุใดไม่ทราบประชาชนได้แตกตื่นหาทางวิ่งหนีลงจากสะพาน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายอย่างน้อย 378 คน มีทั้งจากขาดอากาศหายใจและถูกเหยียบย่ำจนขาดใจ และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 755 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 240 คน กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ทั่วโลกต่างแสดงความเสียใจ
ทั้งนี้เหตุการณ์เหยียบกันตายที่เกิดขึ้นมีข้อสันนิษฐานว่า มีคนราว 10 คน เกิดเป็นลมล้มลงที่กลางราวสะพาน ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกรีบหาทางลงจนสะพานเริ่มแกว่ง หลังจากนั้นมีคนตะโกนบอกว่าเกิดไฟช็อตและสะพานพัง
ผู้คนจึงแตกตื่นวิ่งหนีแบบไม่คิดชีวิต บางส่วนถูกดันตกสะพาน บางส่วนตั้งใจกระโดดหนีลงไปในแม่น้ำ บางส่วนพยายามปีนและยึดสายไฟที่ติดกับสะพานจนสายไฟขาด และเกิดไฟดูด
นอกจากนั้น ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนยังอ้างว่า สารวัตรทหารที่อยู่ปลายสะพานได้ใช้วิธีฉีดน้ำแรงดันสูงสลายฝูงชนที่ตื่นตระหนก แต่แรงดันน้ำทำให้สายไฟขาดไปชอร์ตชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่มีร่องรอยถูกไฟดูด
จากสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าการรวมตัวของคนหมู่มากในพื้นที่แคบๆนั้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และส่วนหนึ่งที่สำคัญคือข่าวสารข้อมูล หากสื่อสารกันผิดพลาดความแตกตื่นโกลาหลก็จะกลายเป็นหายนะ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก