ผลักดันการแก้ปัญหาป่าไม้อย่างยั่งยืนเร่งคืนพื้นที่ป่า ต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมาย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องร่วมกันหาทางรับมือ ซึ่ง “ป่าไม้” เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด เพื่อรักษาผลประโยชน์แก่ประเทศชาติและคนรุ่นหลัง โดยให้การสนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของเขตเศรษฐกิจ และบริหารจัดการระบบนิเวศ รวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีการสื่อสารปกป้องการบุกรุกป่า ภายใต้ระบบปฏิบัติการ “พิทักษ์ไพร” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่สามารถตรวจตราและเข้าถึงผู้บุกรุกพื้นที่ป่าได้สะดวกรวดเร็วกว่าการสุ่มลาดตระเวน
นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาด้านป่าไม้ ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (5th APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry) ระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ไทยได้ร่วมหารือและเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมการดำเนินงานด้านป่าไม้ในภูมิภาค ด้วยการผลักดันการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของเขตเศรษฐกิจ โดยสมาชิกเอเปคได้ร่วมกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ภายในภูมิภาคได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกเตอร์ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้สำเร็จ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ การเปลี่ยนข้อได้เปรียบให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก BCG Econ
ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The Meeting of the APEC Experts Group on Illegal Logging and Associated Trade: EGILAT) ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรีลา จังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นเวทีให้ไทยผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย รวมถึงต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรอง (Certificate) การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เป็นต้น โดยประเด็นที่ไทยมีการผลักดันในการประชุมฯ ทั้งหมด ถือเป็นการสร้างความสมดุล (Balance) ระหว่างการบริการทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรป่าไม้ และการบริการทางเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากรป่าไม้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
[Advertorial]