วุฒิสภา ถ่วงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งกรรมาธิการขอศึกษาก่อน
วุฒิสภา มีมติเมื่อวันจันทร์ (21 พ.ย.) ให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะหนึ่งขึ้นมาเพื่อศึกษาการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
การลงมติดังกล่าวมีคะแนนดังนี้
- เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 143 เสียง
- ไม่เห็นชอบ 24 เสียง
- งดออกเสียง 15 เสียง
- ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
เหตุนี้ส่งผลให้การจัดประชามติว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น ล่าช้าและไกลความจริงออกไปอีก
ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย. สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยเสียง 324 เสียง โดยไร้เสียงไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 1 เสียง ให้ทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดไว้ว่าหลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณา หากเห็นชอบ ก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและดำเนินการ แต่ถ้าหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็ถือว่าจบกระบวนการ
ส่วนใหญ่ขอศึกษาก่อน-หวั่น ส.ส. ใช้หาเสียง
สมาชิกวุฒิสภาหลายคนกังวลว่า การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจกินเวลายาวนาน จึงควรนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาแก้ไขเป็นรายมาตราแทน และตั้งข้อสังเกตไม่ไว้ใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่าอาจใช้เรื่องนี้ไปหาเสียงกับประชาชน
นายจเด็จ อินสว่าง กล่าวว่า ตนได้ยินกระแสข่าวลือสะพัดว่า ส.ส. จะยกประเด็นประชามติจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2566 และอ้างว่า ส.ส. บางคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับให้ทำประชามติดังกล่าว แต่ต้องลงเสียงเห็นชอบ เพราะไม่อยากถูกวิจารณ์ว่าขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า การเสนอญัตติด่วนของสภาผู้แทนราษฎรมายังวุฒิสภานี้ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลที่โน้มน้าวได้ว่าเหตุใดจึงควรจัดทำประชามติ
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ให้ความเห็นว่า คำถามของผู้เสนอญัตติจัดทำประชามติ ซึ่งก็คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล และนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ" กว้างเกินไป และทำให้มองไม่เห็นว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร
ส.ว. รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ตนกังวลว่าการทำประชามติดังกล่าวจะใช้เวลายาวนาน และแม้ว่าถ้าหากวุฒิสภาอนุมัติก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดทำพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปได้ทัน จึงเชื่อว่าผู้เสนอเพียงต้องการผลทางการเมืองเท่านั้น
เสียเวลา ลงมติไปเลย!
สมาชิกวุฒิสภาเพียงบางคนเท่านั้นที่มองว่าไม่ควรเสียเวลากับการศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ควรลงมติไปเลยว่าจะเห็นชอบให้ทำประชามติหรือไม่
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์ในวงกว้าง จึงควรรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากประชาชน ซึ่งเป็นผู้อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่การตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาก่อนนั้นเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และการเป็นวุฒิสภาชุดปัจจุบันมากว่า 3 ปี ยังศึกษารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่กระจ่างอีกหรือ
"ผมจึงเห็นว่าคือเห็นชอบกับการทำประชามติสอบถามประชาชนว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แล้วพวกเราก็ไม่ควรประวิงเวลานะครับ ที่จะไปเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ประวิงเวลาไปอีกไม่รู้กี่เดือนกี่ไป แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ เราเองก็อยู่อีกปีครึ่งนะครับ เราก็น่าจะมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" นายเฉลิมชัย กล่าว
"จริงๆ ไม่ต้องศึกษาละไอ้รัฐธรรมนูญฉบับเนี้ย เราอยู่มา 3 ปีกว่าเรารู้กันหมดทุกคนแล้วล่ะว่ามาตราไหนเป็นยังไง ท่านศึกษามันก็ไม่มีอะไรใหม่ขึ้นมาหรอกนะครับ มีแต่ว่าจะประวิงเวลาให้ล่าช้าออกไปอีกนะครับ"