กทม. ปัดถ่วงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เน้นยึดข้อบัญญัติ-ความเห็นชอบสภา

กทม. ปัดถ่วงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เน้นยึดข้อบัญญัติ-ความเห็นชอบสภา

กทม. ปัดถ่วงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เน้นยึดข้อบัญญัติ-ความเห็นชอบสภา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) ว่ากรุงเทพมหานคร ไม่มีเจตนาชะลอการชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ส่วนต่อขยาย 1 ดอกเบี้ยยังไม่จบ

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมมหานคร อธิบายการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนๆ เริ่มจากส่วนต่อขยายที่ 1 (่อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่, วงเวียนใหญ่-บางหว้า) ว่ามีการเจรจาให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ภาระค่าจ้างเดินรถ หลังจากคณะรัฐประหารมีคำสั่งฉบับหนึ่งออกมาเมื่อเดือน เม.ย. 2562 เกี่ยวกับการหาข้อยุติรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ส่วนหนี้ของส่วนต่อขยายที่ 1 นั้นอยู่ระหว่างอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เพราะสัญญาระหว่างกรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพธนาคม (เคที) ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงเห็นว่า เคทีควรจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาตรวจสอบและจำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดหนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่บีทีเอสฟ้อง และถ้าหากดำเนินการครวบถ้วนและมีข้อยุติเกี่ยวกับการต่อสัมปทานจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็สามารถชำระหนี้ได้

ส่วนต่อขยาย 2 ต้องผ่านสภา กทม.

นายวิศณุ กล่าวถึงส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ว่าบันทึกมอบหมายเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559 ยังไม่สมบูรณ์ เพราะในข้อ 133 ของบันทึกนี้ระบุว่า  "บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้ 'บริษัท' (KT) เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร" เท่ากับว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ทำนิติกรรมโดยตรงกับบีทีเอส การอนุมัติงบประมาณใดๆ จึงต้องทำให้ครบถ้วนตามบัญญัติของกรุงเทพมาหนคร และต้องผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครด้วย

ไทม์ไลน์ของบใช้หนี้

  • 2561
    • สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 แล้ว ด้วยวงเงินรวม 31,988.49 ล้านบาท (เป็นเงินงบประมาณ กทม. 12,000 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 19,988.498 ล้านบาท)  ระยะเวลาดำเนินงาน 15 ปี จนถึงปี 2575 แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับพิจารณาและบรรจุในร่างงบประมาณเลย
  • 2562
    • 11 เม.ย. คณะรัฐประหารออกคำสั่งฉบับหนึ่งมา ที่มีเนื้อหาว่าต้องการให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความต่อเนื่อง (Through Operation / ธรู ออเปอเรชัน) เพราะเกรงว่าหากผู้ให้บริการเป็นคนละรายกัน ผู้ใช้บริการจะต้องลงจากรถไฟเพื่อเปลี่ยนขบวนบ่อยครั้ง ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมากำหนดการแบ่งผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน
    • 20 ส.ค. คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเจรจา ร่างสัญญา และร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว และให้กระทรวงการคลังเสนอความเห็น 
  • 2563
    • 17 พ.ย. กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย เริ่มจัดเตรียมข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ นำไปประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
  • 2564
    • สำนักการจราจรและขนส่งเสนอขอจัดสรรงบประมาณชำระหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง ด้วยวงเงิน 9,247,748,339 บาท แต่สภากรุงเทพมหานครมีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ปีดังกล่าวว่าไม่เห็นชอบ
    • สภากรุงเทพมหานครในขณะนั้น เสนอให้กรุงเทพมหานครขอรับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแทน ไม่ก็ให้บีทีเอสรับภาระหนี้ดังกล่าวไป โดยแลกกับการให้สัมปทาน แต่ถ้ายังทำไม่ได้อีก ก็เห็นว่าควรคืนโครงการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • 2565
    • 22 ก.พ. กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย เสร็จสิ้นการนำข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
    • 13 มิ.ย. กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งกรุงเทพมหานคร เพื่อขอทราบแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะมีผู้ว่าราชการคนใหม่ และสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่
    • 3 พ.ย. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีหนังสือตอบกลับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีใจความหลักดังนี้
      • เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ
      • เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562
      • การหาข้อยุติของคณะรัฐมนตรีตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ กทม. ปัดถ่วงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เน้นยึดข้อบัญญัติ-ความเห็นชอบสภา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook