วาดรูปให้เป็นเรื่อง

วาดรูปให้เป็นเรื่อง

วาดรูปให้เป็นเรื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ภัทรดา ฤทธิ์แตง

ใครที่เป็นหนอนหนังสือ น่าจะคุ้นหูกับสำนักพิมพ์คุณภาพอย่าง 'ผีเสื้อ' และคุ้นตากับภาพปกสวยงาม มีเอกลักษณ์และภาพประกอบภายในเล่ม

ที่บอกใบ้หัวใจของเรื่องราว ซึ่งกว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพแต่ละภาพ ลงสีแต่ละสี ต้องอาศัยจินตนาการบวกฝีมือของ เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง นักวาดภาพประกอบแห่งสำนักพิมพ์นี้

"อย่าเรียกผมว่าศิลปิน เดี๋ยวตัวจริงเขาจะโกธร (หัวเราะ) เพราะผมไม่ได้ทำงานเพียวอาร์ท ผมเป็นเพียงนักวาดภาพประกอบหนังสือ ที่ได้ทำงานศิลปะอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องหลอกตัวเอง ไม่ต้องหลอกคนดู และสนุกกับการทำงาน"

ระยะเวลากว่า 15 ปีที่อยู่ใต้ชายคาสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นับผลงานดูแล้วทั้งวาดรูปประกอบและออกแบบปก เขามีผลงานรวมๆ แล้วหลายร้อยรูป แต่ก่อนจะมีผลงานวางอยู่บนชั้นหนังสือย่างที่เห็นนี้ ชายหนุ่มก็ผ่านการค้นพบว่า งานศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในแกลลอลี่ แต่อยู่ที่ไหนก็ได้ ขอเพียงคนทำสุขใจ ซึ่งใช้เวลาอยู่กวา 2 ปีกว่าจะได้พบความจริงในชีวิตข้อนี้

"ช่วงเรียนจบปี 2538 ไฟแรง รวมกลุ่มกับเพื่อน 5 คน ต่างเมเจอร์กัน จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับสร้างงานศิลปะ แล้วแต่ใครว่าจ้างทำอะไร เขียนภาพในบาร์เกย์ วาดรูปในโบสถ์ เขียนภาพทิวทัศน์ เพื่อเอาเงินมาจัดแสดงงานศิลปะของเรา ขายได้มั่ง ไม่ได้มั่ง ทำตัวเป็นแมงกะพรุนอยู่ปีกว่าที่เชียงใหม่ แต่รายได้ไม่พอกิน ถึงขั้นต้องไปงมหอยจากลำธารมาทำกับข้าว(หัวเราะ)"

สิ่งที่ตามมาจึงเป็นความเข้าใจที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง

"เข้าใจความจริงมากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นเด็ก ร้อนวิชา เมื่อลองจึงรู้ ว่ากลไกในสังคมเราไม่ใช่อย่างที่เราคิด เราก็อปปี้แนวคิดมาจากฝรั่ง ที่มีกลไกผลักดันคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่สำหรับสังคมไทย ที่ทุกอย่างถูกตีค่าเป็นเงิน สุดท้ายงานก็ไปจบอยู่บนผนังโรงแรม ทำให้มีแรงทำงานอยู่พักหนึ่ง แล้วค่อย ๆ เฉาไปเอง เพราะความเป็นไปในสังคมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ผมอยู่"

เมื่อพบว่าทางเดินนี้ไม่ใช่สัจธรรม คนที่เคยกู้หนี้ยืมสินคนรอบตัว เพื่อแต่งแต้มความฝัน จึงเก็บของกลับบ้านเกิดที่กรุงเทพ และเที่ยวหางานอยู่เป็นปี กว่าโอกาสจะมาให้พิสูจน์ฝีมือ ซึ่งถือว่าเป็นชะตาลิขิตก็ว่าได้

"บังเอิญวันนั้นนัดเจอเพื่อนที่ร้านหนังสือเล็กๆ บนถนนพระอาทิตย์ บังเอิญว่าเจ้าของร้านรู้จักกับอาจารย์มกุฎ อรฤดี (บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ซึ่งกำลังหาคนมาวาดรูปประกอบหนังสือ เรื่อง โรอันดา ผมเลยเอาต้นฉบับไปอ่าน แล้วลองวาดรูปให้ประมาณ 20 รูป ใช้เวลาเกือบเดือน วาดเสร็จมาให้อาจารย์มกุฎ บังเอิญแกชอบ เลยได้งานตั้งแต่ปี 2540 ทำงานเป็นชิ้นอยู่ 4 ปี ถึงได้ตำแหน่งประจำ"

 
ชายวัยสามสิบปลาย ในมาดกางเกงยีนส์ เสื้อยืดผู้นี้บอกว่า ไม่เคยวาดฝันไว้ว่าจะจับงานสายสิ่งพิมพ์เพื่อเลี้ยงชีพ รู้เพียงอุดมการณ์ที่เคยถือมั่นกินไม่ได้ แต่ไม่อยากทิ้งการวาดรูป จึงเฟ้นหาทางสมดุลระหว่างการมีอาชีพเลี้ยงตน และได้ขีดเขียนดั่งใจ

แต่เมื่อได้คลุกคลีอยู่กับงานสิ่งพิมพ์ทุกวัน เขาก็ได้เรียนรู้หลักการในการวาดภาพประกอบ แบบที่เฉลิมชาติอธิบายคร่าวๆ ให้ฟังว่า งานออกแบบภาพเพื่อใช้กับหนังสือควรแบ่งตามอายุของคนอ่าน ได้แก่ เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยรุ่นปานกลาง ผู้ใหญ่ เพื่อกำหนดลายเส้นและเทคนิคที่ใช้ เช่น ถ้าเรื่องเด็กเล็กมาก ก็จะวาดเหมือนเด็กวาดรูปไม่เป็น แต่ถ้าโตหน่อยก็จะใช้เส้นเป็นเรื่องเป็นราว สรีระถูกส่วน

"หลักการสูงสุดในการทำงาน คือ ภาพต้องกลืนกับเรื่องราว อาจะเป็นแนวคิดที่เชย แต่ผมไม่คิดจะสร้างเอกลักษณ์ เพราะหากแบรนด์มันจะเกิด มันจะมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่ด้วยความจงใจ เช่น จงใจเขียนรูปผิดส่วนให้คนจำได้ ผมไม่เห็นด้วย" เขาพูดพลางหันไปหยิบผลงานบนปกหนังสือ และภาพประกอบรูปเล่มของเขามาชูให้ดูเพื่อเปรียบเทียบ

เล่มที่เขานำมาเป็นตัวอย่าง คือ เรื่องหมาสารพัด ที่ออกแบบทั้งปก และภาพภายในเล่ม พร้อมเล่าต่อว่า อ่านเสร็จปุ๊บก็คิดเลยว่าเป็นรูปนี้ ตอนแรกยังไม่ชินกับการอ่านแล้วสื่อความ ด้วยแต่ก่อนทำงานศิลปะแบบเห็นแก่ตัว ใครไม่เข้าใจก็ช่างเขา แต่เมื่อทำงานด้านนี้แล้วต้องทำให้คนอื่นเข้าใจในสารที่แฝงอยู่ในลายเส้น ด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องแก้ไขอยู่เสมอ

แต่ก่อนจะมาเป็นภาพวาดสวยๆ เฉลิมชาติก็ต้องหาข้อมูลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ ทำให้คนวาดต้องหาข้อมูลด้านวัฒนธรรมตะวันตกเป็นหลัก

"แหล่งข้อมูลในวันนี้คือ เว็บไซต์ แต่ในเมื่อแรกเริ่มงาน คือ หนังสือเก่าที่สวยจตุจักร ซึ่งบางทีเล่มละ 400-500 บาท แต่ใช้มาเป็นแบบได้เพียง 2 รูป จุดที่ยากที่สุดคือ หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องรอยประทับ เพราะต้องมีการลงลายละเอียดเสื้อผ้าตัวละคร ฉาก บรรยากาศในยุคนั้น ๆ แต่ก็ยังสนุกนะ ก็ผมชอบหาสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน แล้วก็ได้ความรู้ดี"

ความใฝ่รู้ของเขายังไม่หยุดที่รูปวาดเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ไปถึงการทำอัลบั้มเพลงแนวเทคโนแด๊นซ์ 3 อัลบัมเมื่อ 7 ปีก่อนที่รวมตัวกับเพื่อน ๆ ด้วยอารมณ์คึกอยากทำขึ้นมาทั้งที่เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นสักอย่าง โดยขายได้ 300 แผ่น กระทั่งไปสะดุดหูโปรดิวเซอร์และผู้กำกับค่ายสหมงคลฟิลม์ ถึงขนาดให้ทำซาวด์ประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น เฉิ่ม ตลอดจนเพลงประกอบโฆษณาอีกหลายตัว แต่หยุดไปหลังทำได้ 5 ปี เพราะต้องใช้คนเยอะ เมื่อหารรายได้ จึงไม่คุ้มค่ารายจ่าย

จากชีวิตศิลปินอิสระผันตัวเองมาทำงานประจำ อาจจะดูเหมือนเส้นทางชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง...

แต่อภิชาติยิ้มแล้วแย้งว่า สิ่งที่เขาทำคือ เปลี่ยนรูปแบบแต่ ไม่ได้เปลี่ยนหลักการณ์ของชีวิต แม้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่สนใจ เพราะยังได้ทำในสิ่งที่อยากทำอยู่ ได้แสดงออกอย่างที่คิดในชิ้นงานแต่ละชิ้น อีกทั้งยังอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง โดยมีเวลาส่วนตัว ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ และดูแลคนรอบข้าง ไม่หมดเวลาไปกับการทำงานเพื่อผ่อนจ่ายอะไร แต่ใช้ชีวิตเพื่อที่จะเรียนรู้ชีวิต เหมือนที่เขาทิ้งท้ายว่า

"การแสวงหาโลกกว้าง เรียนรู้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไกล ไม่ต้องอยู่เกาะ อยู่ป่า แค่ใช้ชีวิตและยอมรับความจริง โดยศึกษามัน ดูมัน อย่าบิดเบือนมัน เคารพมันอย่างที่มันเป็น แล้วมันจะทำให้เราโตและค้นพบความจริงในชีวิตไปเอง"

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ วาดรูปให้เป็นเรื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook