'ดีเอสไอ'เร่งสอบฮั้วประมูลไซโล

'ดีเอสไอ'เร่งสอบฮั้วประมูลไซโล

'ดีเอสไอ'เร่งสอบฮั้วประมูลไซโล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีเอสไอตรวจสอบพบพิรุธประมูลโครงการเช่าไซโลของ อคส. 6 ประเด็น มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

วันนี้( 23 ธ.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงข่าวผลการสืบสวนความไม่โปร่งใสส่อไปในทางทุจริต เกี่ยวกับการประมูลเพื่อเข้าทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดหาไซโลสำหรับเก็บสินค้าเกษตร มูลค่าโครงการหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจีจีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด

นายธาริต กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า อคส.มีนโยบายจัดหาไซโลเพื่อเก็บสินค้าเกษตรที่ อคส.จะรับซื้อมาเอง หรือดำเนินการตามนโยบายสินค้าเกษตรของรัฐบาล โครงการดังกล่าวกำหนดให้จัดหาไซโล 10 แห่งใน 10 จังหวัด แต่ขั้นตอนการกำหนดทีโออาร์และการประกวดราคา มีพฤติการณ์หลายอย่างส่อทุจริต ดีเอสไอจึงจำเป็นต้องเข้าไปสอบสวนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบสินค้าเกษตรของประเทศ รวมถึงการเสียโอกาสในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกษตรของคนไทยให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีฮั้วประมูลจัดหาไซโลของ อคส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ผู้ชนะการประกวดราคาต้องจัดหาไซโลที่มีคุณภาพเพื่อเก็บรักษาพืชผลเกษตรไม่ให้เน่าเสีย เพื่อให้ อคส.เช่าได้ภายใน 2 ปี แต่ระหว่างที่การจัดหายังไม่เกิดขึ้น ปรากฏว่า อคส.ได้ทำสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาให้เป็นผู้มีสิทธิค้าขายข้าวของประเทศไทย โดยไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ อคส.พิจารณา การสืบสวนของดีเอสไอพบว่า การประกวดราคาในครั้งนี้ส่อไปในทางทุจริตใน 6 ประเด็น 1.มีการประกาศให้เวลาผู้เสนอราคาในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งผู้เสนอราคาทั่วไป ไม่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันได้อย่างโปร่งใส โดยใช้เวลาเพียง 15-20 วัน ในการพิจารณาซองเทคนิคและซองราคา อีกทั้งทีโออาร์ยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเป็นเจ้าของที่ดินหรือมีกรรมสิทธิร่วมในที่ดินซึ่งใช้ก่อสร้างเป็นไซโลข้าวใน 10 จังหวัด

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวอีกว่า 2 โครงการมูลค่าเป็นหมื่นล้าน ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา กลับไม่กำหนดเรื่องประสบการณ์ในการทำงาน มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยทำดราฟขึ้นเป็น 2 ชุด เพื่อให้เลือกว่าจะใช้แบบใด ซึ่งพยานผู้เข้าร่วมประมูลได้ให้การว่า ไม่ได้ตอบคำถามในหลายหัวข้อ แต่กลับมีการให้และไม่ให้คะแนนในหัวข้อที่เว้นว่าง 3 โครงการดังกล่าวมีการประกาศประกวดราคา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกได้ถูกยกเลิก และออกประกาศฉบับที่สองในวันเดียวกัน โดยให้เวลาผู้เสนอราคาที่สนใจ ยื่นซองในระยะเวลาเพียง 6 วัน 4 ดีเอสไอยังพบว่า ในการพิจารณาการคัดเลือก มีบุคคลที่ไม่ใช่กรรมการ และมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเรียกว่าอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้เข้าร่วมในคณะกรรมการด้วย โดยบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับบริษัทที่ชนะการประมูล

ประเด็นที่ 5 ที่ดีเอสไอตรวจสอบพบคือ บริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคาต่อ อคส. เสนอเอกสารที่ไม่เป็นความจริง และมีผู้จัดหามาให้ และ 6 บริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคาเป็นบริษัทนอมินีต่างชาติ และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการในครั้งนี้ การกระทำของกลุ่มขบวนการนี้ เป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หากดีเอสไอไม่เข้าไปดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรก อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบสินค้าเกษตรของไทย โดยผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิผูกขาดการขายข้าวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศไทยและยังได้เปรียบทางการค้า อาทิ ได้ค่าเช่าจากอคส. 41 บาทต่อตารางเมตร ได้สิทธิจำหน่ายสินค้าในไซโล ลดต้นทุนการค้าขายพืชผลเกษตร และรู้ข้อมูลการซื้อขายล่วงหน้าจากสต๊อกสินค้าในไซโล

สำหรับโครงการจัดหาไซโล 10 แห่ง ให้อคส.รวม 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา ราชบุรี และสระบุรี ซึ่งในทางการสืบสวนดีเอสไอรู้ตัวบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดแล้ว แต่ยังไม่พบความเกี่ยวข้องของนักการเมือง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำความผิดทั้งเจ้าหน้าที่อคส.และกระทรวงพาณิชย์ จะแยกสำนวนส่งให้ป.ป.ช. ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการยกเลิกโครงการประมูลจัดหาไซโลไม่ผลให้ยกเลิกการสอบสวนของดีเอสไอ เพราะคดีนี้ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook