สิงห์ จ่อฟ้องกลับ! นางแบบลีโอบุก กมธ.ลูกเกด งงเชิญมาทำไม
เตรียมฟ้องกลับ"สิงห์"ทนไม่ไหวถูกบีบหนัก งัดข้อ ก.ม.เล่นงาน "หมอสมาน" ผอ.สำนักควบคุมเครื่องดื่มฯ เผยเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ไม่มีอำนาจมาเขียนกฎหมาย อุบค่าเสียหายไว้ก่อน ระบุปฏิทินต้องการพิมพ์ขาย ไม่ใช่ทำโปรโมชั่น ด้านเหล่านางแบบตบเท้าเข้าสภาแจง กมธ. การเงินฯ เซ็กซี่ตัวแม่ "ลูกเกด-เมทินี" นำทีม เรียกเสียงฮือฮา สื่อฯ-ส.ส.ขนาด สวมเสื้อผ้ามิดชิด สุดท้ายไม่ได้พูดสักแอะ งงเชิญมาทำไม ขณะที่ "กมธ. 2 ค่าย" ฟัดโชว์กลางห้องประชุม ปชป.ตอกหน้า พท.ทำ กมธ.เสื่อมเกียรติ จวกโหนกระแสทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
ที่รัฐสภา เวลา 11.30 น. วันที่ 23 ธ.ค. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภา มีนาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ห้ามบริษัทเอกชนโฆษณาประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และแจกปฏิทินลีโอเบียร์ อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต โดยได้เชิญทั้งฝ่ายภาครัฐ อาทิ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมควบคุมโรค ผู้แทนกรมสรรพสามิต ผกก.สน.สามเสน ฝ่ายบริษัทสิงห์คอร์ปฯ นำโดยนายฉัตรชัย วิรัตน์โย สินทร์ ผอ.สายการตลาด บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด และลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินาเล่ คอมพานี จำกัด นำ 4 นางแบบปฏิทินลีโอ มาให้ข้อมูลประกอบด้วย แพม-ปานพิมพ์ เตชะธนชัยพัฒน์ ครี-พัสวีพิชญ์ ศรณ์อัครภา แอม-สุทธิกานต์ หวังเจริญทวีกุล และ แอนนา รีส โดยทั้งหมดแต่งกายมิดชิด ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน รวมทั้ง ส.ส.ที่ไม่ได้เป็น กมธ.ชุดนี้พอรู้ข่าวต่างรีบ พากันมาดูนางแบบชื่อดังเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่เริ่มการพิจารณานายสุรพงษ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เป็นเพราะต้องการให้การดำเนินการของ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินไปด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะอาจกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตที่ในแต่ละปีมีรายได้จากยาสูบและสุราเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ควรกล่าวหาเอาผิดหรือมองประเด็นทางสังคมมากจนเกินไป เพราะกรณี การโฆษณาของเบียร์ดังอีกยี่ห้อหนึ่งที่นำนายแบบ 3 คนมาขึ้นป้ายคัตเอาต์ติดตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ต้องถือว่าผิดเหมือนกัน
ด้านนายมานิต ชี้แจงว่า ขณะนี้กระทรวงฯกำลังดำเนินการออกกฎกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อผู้ประกอบการ เรื่องอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รอเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามเท่านั้น เพราะหากจะยึด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้ผู้ใดชักจูงใจ หรือแสดงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกเว้นตามที่กฎกระทรวงกำหนด ดังนั้นเมื่อยังไม่มีกฎกระทรวงออกมาก็ต้องถือว่าการโฆษณาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถือว่าผิดหมด ขอยืนยันว่าที่กระทรวงฯฟ้องร้องบริษัทเบียร์ 65 คดีนั้น เป็นการรวบรวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเบียร์ก่อน เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชน ขณะ นี้กำลังพิจารณารวบรวมหลักฐานฟ้อง บริษัทเหล้าทั้งหมดอยู่จะบังคับใช้กฎหมายให้ทัด เทียมกัน
ขณะที่นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษา กมธ.กล่าวท้วงติงกลางที่ประชุมว่า กมธ.ชุดนี้ ไม่ใช่ กมธ.วัฒนธรรม หรือสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นการหยิบยกเรื่องใดมาพิจารณาจึงต้องดูให้รอบคอบ ไม่ใช่เอาเรื่องที่เป็นกระแสทุกเรื่องมาทำหมด เพราะจะทำให้ กมธ.หมดความศักดิ์สิทธิ์ ตนเคยเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้มาก่อน วันนี้ กมธ. มาทำอะไรกัน เชิญน้อง ๆ นักแสดงที่เขาทำอาชีพอิสระมานั่งให้สื่อถ่ายภาพเหมือนกับเขาเป็นจำเลยสังคม ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่คนชั่วร้าย และพวกเรา กมธ. มีทั้งหมด 15 คน แต่มานั่งอยู่ในห้องประชุมเพียง 3 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ที่เขาไม่เข้าร่วมประชุมเพราะไม่เห็นด้วยที่ประธานนำเรื่องนี้บรรจุเข้ามาพิจารณา และกำลังเตรียมแถลงข่าวคัดค้านอยู่ด้านนอก
"ผมไม่เคยไปยืนต่อแถวรับปฏิทิน และยังไม่เคยเห็นภาพว่าเป็นอย่างไร แต่คิดว่าปฏิทินนี้จะไม่ทำให้ยอดขายของบริษัทฯเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง เพราะเขาทำกันมาเป็น ปี ๆ แล้ว เพียงแต่อาจสวนทางกับประเพณีไทยเท่านั้น กมธ.ไม่ควรหยิบเรื่องเล็กมาพิจารณา หรือทำตามกระแสสังคม จึงควรให้กระทรวงสาธารณสุขรับเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อไปจะดีกว่า"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเกิดการทักท้วงในที่ประชุม ทำให้บรรยากาศประชุมเริ่มตึงเครียด ขณะที่เหล่านางแบบต่างหันมามองหน้ากันด้วยความงุนงง โดยผู้จัดการนางแบบคนหนึ่งถึงกับหันมาถามนักข่าวที่นั่งฟังการประชุมอยู่ด้วยว่า "ตกลงเขาจะเอาอย่างไรต่อไป นางแบบต้องชี้แจงหรือไม่" เนื่องจากที่มาก็จะมาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมชื่นชมบทบาทของนายพิเชษฐไม่ขาดปาก
ข่าวแจ้งว่าระหว่างที่นายสุรพงษ์กำลังหาทางออกอยู่นั้น นายฉัตรชัยได้ลุกขึ้น ยืนขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา แต่นายพิเชษฐทักท้วง ว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ด้านนายฉัตรชัยยืนยันขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรม การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตีความมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 คลาดเคลื่อนมา ตลอด โดยห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ เจตนารมณ์ของกฎหมายระบุชัดว่ามิได้ห้ามแต่ควบคุม เพราะหากจะตีความอย่างนั้นทุกบริษัทต้องถือว่าผิดหมด แม้แต่แจกผ้าห่มก็ต้องผิดด้วย
ในที่สุดนายสุรพงษ์จึงรวบรัดกล่าวขอบคุณเหล่านางแบบ และตัวแทนของทุกหน่วยงานที่ให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุม โดยไม่มีการซักถามแต่อย่างใด ให้เหตุผลว่าจะมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อ และขอให้กระทรวงสรรพสามิตนำข้อมูลภาษีสุราและเบียร์ที่ภาครัฐได้รับในแต่ละปีมา มอบให้กรรมาธิการฯ ต่อไป ก่อนกล่าวปิดการประชุมทันที โดยใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่าการพิจารณาครั้งนี้มี ส.ส. เข้าร่วมประชุมเพียงแค่ 3 คนคือนายสุรพงษ์ นายพิเชษฐ และนายชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง ส.ส.ชัยนาท พรรคเพื่อไทยเท่านั้น
เย็นวันเดียวกันนายฉัตรชัย พร้อมลูกเกด-เมทินี และนางแบบเปิดแถลงข่าวที่บริษัท บุญรอดฯ นายฉัตรชัย กล่าวว่า บริษัทมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่อง จากคู่แข่งรายใหญ่มีการโฆษณาสินค้าในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่เป็นไร จึงยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เรียกร้องความเป็นธรรม ขอให้ศาลไต่สวนให้ศาล คุ้มครองชั่วคราว สำหรับนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ ใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีที่ตีความว่าห้ามผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาในทุกกรณี แม้กระทั่งภาพลักษณ์องค์กร ขณะที่กฎหมายฉบับเดิมให้สามารถให้โฆษณาในเชิงสร้างสรรค์สังคม และภาพลักษณ์องค์กรได้ จึงขอให้เพิกถอน ประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอล กอฮอล์ ฉบับที่ 9/2552 ที่ห้ามไม่ให้ โฆษณาในทุกกรณี
ขณะเดียวกันเห็นว่านายแพทย์สมานไม่มีสิทธิที่จะไปตีความกฎหมายฉบับดังกล่าว และทำออกประกาศมาได้ เพราะเป็นเพียงฝ่ายธุรกิจการของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่มีหน้าที่อำนาจใด ๆ ในการวินิจฉัยตีความว่าใครผิดหรือถูก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แต่อำนาจดังกล่าวต้องเป็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิด นอกจากนี้บริษัทเตรียมฟ้องกลับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เรื่องค่าเสียหายยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้เห็นว่าเป็นการทำ 2 มาตรฐาน สำหรับปฏิทินอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะความตั้งใจเดิมก่อนที่จะเกิดปัญหาต้องการตีพิมพ์ไว้เพื่อขายเพียงอย่างเดียวไม่ได้มุ่งหวังนำไปจัดโปรโมชั่น หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายแต่อย่างใด.