เรียกเราว่า...ตัวแสบ แห่งบ้านโป่ง

เรียกเราว่า...ตัวแสบ แห่งบ้านโป่ง

เรียกเราว่า...ตัวแสบ แห่งบ้านโป่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : สันติสุข กาญจนประกร

โฉนดชุมชนกลายเป็นคำหรู ที่รัฐบาลใช้ซื้อใจคนจน ลองไปฟังเสียงจริงๆ ของชาวบ้านที่เข้าไปปฏิรูปที่ดิน ด้วยตัวเองกันหน่อย

ไหนๆ ก็รักรากหญ้ากันสุดหัวใจแล้ว อย่างน้อย... ก็ให้รู้ว่าทิศทางที่พวกเขาต้องการเป็นแบบไหน และใครกันแน่ที่ "ตัวแสบ"

อย่างเป็นงานเป็นการ...


ผลวิจัยของ ดวงมณี เลาวกุล และคณะจากเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2549 สัดส่วนของผู้คนในสังคมไทยยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ถึงร้อยละ 39.70 แต่ชาวนาชาวไร่มากกว่าร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่

อย่างรวบรัด...


ปี 2545 เกษตรกรในนาม "กลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง" ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปแผ้วทางที่ดินรกร้างกว่า 400 ไร่ ของนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อ เพื่อปฏิรูปและจัดสรรที่ทำกินเสียใหม่

"แต่ก่อน ที่ดินแถบบ้านโป่งจับจองแผ้วทางกันมาโดยบรรพบุรุษ นายทุนมากว้านซื้อตั้งแต่ปี 2528 ถึงขั้นบอกว่า ที่ดินของใครที่ยังไม่ขาย ให้ซื้อให้หมด แล้วในที่สุดที่ดินก็ตกไปอยู่กับนายทุนหมด คนรุ่นหลังเลยไม่มีที่ทำกิน" ดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปฯ ย้อนภาพให้ฟัง

ชาวบ้านจำเป็นต้องขาย เพราะมีการซื้อที่ปิดทางเข้าออก อีกทั้งหลายปัจจัยบีบคั้น ทั้งเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ รวมถึงโรคจากแมลง

จนถึงปัจจุบัน ดิเรกและสมาชิกกลุ่มปฏิรูปฯ ยังจับจองที่ดินเหล่านั้นไว้ โดยตั้งกฎกติกาของกลุ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีการขายที่ดินเกิดขึ้นอีกเหมือนที่บรรพบุรุษเคยทำมา และต้องใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรอย่างเต็มที่

ในสายตานายทุนเจ้าของที่ดิน รับรองได้ว่าดิเรกและพวกเป็น "ตัวแสบ" แต่เขาบอกว่า

"ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะทำให้มันถูกกฎหมายด้วยซ้ำ"

โฉนดชุมชนฉบับบ้านโป่ง


บ่ายแล้ว ลมเย็นช่วงปลายปีพัดเบาๆ ไม้ใหญ่หลายต้นแผ่ร่มเงาปกคลุมบ้านไม้สองชั้นหลังนั้นจนแลครึ้ม หญิงชายวัยกลางคนหลายสิบทิ้งจอมเสียมมารวมตัวกันที่นี่

ทุกวันที่ 20 ของเดือน สมาชิกกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งจะ มีนัดประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น ไล่ไปตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการทำเสาไฟ ระบบน้ำ จนถึงย้ำเตือนให้สมาชิกเข้าใจในหลักของการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง

หลังการประชุม ดิเรก-ประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า พอเข้าสู่วัยรุ่น ชีวิตช่วงนั้นเขาต้องออกไปขายแรงงานอย่างเดียว

"ไปทำงานก่อสร้างในตัวเมืองเชียงใหม่ ไปทุกที่ที่มีคนจ้าง ลำบากมาก ไม่มีที่ดินทำกิน นายทุนกว้านซื้อไปหมดแล้ว ทำไงล่ะ เมื่อวิถีชีวิตของเรามันเป็นสังคมเกษตร"

การรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนบ้านโป่ง เกิดจากการที่นายทุนเจ้าของที่ดิน ขนขยะมาทิ้งจนสร้างปัญหาให้แก่คนในหมู่บ้าน ประกอบกับคนที่นี่ประสบปัญหาขาดที่ดินทำกินด้วย

"ไม่ได้ลักลอบมาเล็กๆ น้อยๆ เอามากันเป็นสิบล้อพ่วง กลิ่นคลุ้งไปทั่ว เลยมีการประกาศเสียงตามสายให้คนมาช่วยกัน พอเห็นว่าเอามาทิ้งจริง ชาวบ้านเลยปิดถนนไม่ให้รถออก ต้องรอฟ้าสางค่อยเจรจา พอดีช่วงนั้นทางจังหวัดลำพูนมีการเข้าไปจัดการเรื่องที่ดิน คนในหมู่บ้านมีครอบครัวอยู่ที่นั่น เขาเอาข้อมูลมาบอกว่าบ้านเรามีปัญหาคล้ายกัน ลองไปศึกษาดูไหมว่าเขาจัดการกันอย่างไร"

นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปยึดที่ดินเพื่อทำการปฏิรูปเสียใหม่

"ชาวบ้านเรียกระบบทั้งหมดนี้ว่าเป็นการบริหารการจัดการที่ดินโดยชุมชนอย่างยั่งยืน" ประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวใน งานเสวนาความรู้โฉนดชุมชนที่นิตยสาร way จัดร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

โฉนดชุมชนเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เขาว่า

"พอพูดถึงโฉนดชุมชน ก็เข้าใจไปว่าเป็นตัวเอกสาร ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คุณลองไปดูสัญลักษณ์ของกลุ่มปฏิรูป บอกไว้ชัดเจน มีรูปพร้า นั่นหมายถึงการแผ้วทางที่ดิน จอบ คือสิ่งที่สื่อถึงการทำเกษตร และกำปั้น แสดงว่ายังต้องต่อสู้กันต่อไป"

รถกระบะของดิเรกโขยกผ่านทางลูกรังจนฝุ่นคลุ้ง สองข้างทางขนาบไปด้วยแปลงผักนานาชนิด เขาพูดติดตลกว่า อย่างน้อยๆ สมาชิกทุกคนต้องปลูกชะอมไร้หนาม ใครไม่ปลูกถือว่าขี้เกียจ เพราะขึ้นง่ายมาก ทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านโป่ง

"โฉนดชุมชนของแต่ละพื้นที่ย่อมมีกฎกติกาแตกต่างกันไป ควรเอาไปปรับใช้ให้เหมาะ แต่หลักๆ แล้วต้องมีไว้เพื่อทำเกษตรกรรม ห้ามซื้อขายให้บุคคลภายนอก เพื่อรักษาผืนดินให้คงอยู่กับกลุ่มตลอดไป"

กติกาหลักๆ ของการปฏิรูปที่ดินในบ้านโป่ง ยึดแกนมาจากจังหวัดลำพูน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยคงต้องปล่อยให้คนในชุมชนตกลงกันเองอย่างที่ดิเรกว่า

"ไม่ตัดสินว่าใครได้แปลงไหน เราเข้าไปแผ้วทางช่วยกัน ตัดแบ่ง แล้วมาจับฉลาก เราเห็นว่าเป็นธรรมที่สุด นี่ใช้เสียงตามสายประกาศนะ ว่าใครต้องการใช้ที่ดินให้มาลงชื่อ ทำแบบเปิดเผย ไม่มีมุบมิบเฉพาะคนรู้จัก เปิดโอกาสให้ทุกคน ถือว่าเอารายชื่อตรงนั้นเป็นบัญชีต้น พอแผ้วทางเสร็จ ก็เรียกชื่อไปตามนั้น คนอันดับ 1 ก็มาจับสลาก ได้เลขไหน ก็ไล่ไปตามแปลงในแผนที่ ถนนต่างๆ ชาวบ้านก็จัดการเองหมด ยกเว้นทางที่นายทุนเคยทำไว้"

โดยชุมชน เพื่อชุมชน


ในร่างระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ข้อหนึ่งระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รัฐ ระยะเวลาดำเนินงาน ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 25 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

"นโยบายเรื่องโฉนดชุมชนที่รัฐบาลกำลังทำ ข้อเสนอและเงื่อนไข ไม่ได้อยู่บนความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง" ดิเรกให้ทัศนะ ขณะมวนยาสูบด้วยใบตองแห้ง

"ทำแค่ในที่ของรัฐ ให้เวลาเช่า 3 ปีแล้วพิจารณาใหม่ ทั้งหมดไม่เกิน 30 ปี อย่างนี้อำนาจอยู่ที่รัฐอย่างเดียว ชาวบ้านที่นี่ต้องการให้รัฐซื้อที่เอกชนคืนมา เพราะมันรกร้างว่างเปล่า แล้วให้ผ่อนคืน 49 ปีเป็นขั้นต่ำ แต่สูงสุด ชาวบ้านขอ 99 ปี เท่ากับเอกชนต่างประเทศที่มาขอเช่าแผ่นดินไทย"

เมื่อผ่อนเสร็จ ดิเรกบอกว่าที่ดินจะตกเป็นของสหกรณ์ ของกลุ่ม เพื่อบริหารจัดการกันเอง

"นี่คือแนวทาง ธนาคารก็ไม่ล่ม ชาวบ้านทำมาหากินสะดวก ดำรงชีพอย่างไม่กังวล ทางกลุ่มก็มีกองทุนธนาคารอยู่แล้ว ใครไม่อยากทำ ก็เอาเงินไปซื้อคืนไว้ส่วนกลาง เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามา นี่คือวิธีจัดการไม่ให้ที่ดินหลุดมือ"

"เราทำกันมา 7 ปี มีการออมทรัพย์ทุกวันที่ 20 เพื่อจะเป็นฐานของชาวบ้าน ต่อไปข้างหน้า ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อบริหารเงิน หมุนเวียนอยู่ภายใน เอาโฉนดชุมชนมาวางค้ำประกัน เพื่อกู้เงินไปซื้อพันธุ์ไม้ เครื่องสูบน้ำได้ ในระยะ 6 เดือน ร้อยละบาท กู้ไม่เกิน 6 เดือน ต้องเอาเงินมาคืน เพื่อผลัดเปลี่ยนให้คนอื่นๆ"

คล้ายๆ ที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ พูดในวงเสวนาว่า

"ชาวบ้านอยากได้ความมั่นคง เพราะฉะนั้นข้อเสนอในกรณีแบบคลองโยง หรืออีกหลายพื้นที่ที่อยู่ในเครือข่าย ก็คือโฉนดชุมชนในที่ดินที่เป็นของเอกชนที่เชื่อมโยงกับกองทุนธนาคารที่ดิน ทั้งที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือกำลังจะก่อตั้งในวันข้างหน้า เราน่าจะคิดถึงกรรมสิทธิ์ที่จะมารองรับ โดยอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ คือว่าตั้งสหกรณ์แล้วให้ชุมชนซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นเจ้าของร่วมกัน"

"ในแง่ของสิทธิการใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการที่ดิน ก็ให้ชุมชนโดยสหกรณ์เป็นผู้ดูแล ใครจะซื้อจะขาย หรือจะเปลี่ยนมือไม่เป็นไร แต่ว่าต้องผ่านองค์กรในชุมชน ก็คือสหกรณ์ ต้องโยงแล้วร่างระเบียบนี้ออกมา และห้ามซื้อห้ามขายให้แก่คนภายนอก ต้องขายให้สมาชิกเท่านั้น สมาชิกก็จะมาพิจารณาดูว่าควรขายให้ใคร ทั้งหมดคือต้องมีการคุ้มครองเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ห้ามไปใช้อย่างอื่น เพราะว่าไม่อย่างนั้นเดี๋ยวบ้านจัดสรรเข้ามา ก็จะทำให้อยู่กินกันลำบากอีก"

เก็บภาษี ตั้งกองทุน ทิศทางโฉนดชุมชน


"เราต้องคุย ถึงเรื่องกองทุนธนาคารที่ดิน การแก้กฎหมายเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่" สาธร วงศ์หนองเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในวงเสวนา

ในทัศนะของดิเรก เรื่องโฉนดชุมชนจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐยอมทำเต็มรูปแบบอย่างที่ชาวบ้านเสนอหรือไม่

"รัฐบาลกลัวนายทุนระดับใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินเยอะๆ ที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรี เขาจะคัดค้านในการเปลี่ยนกฎหมาย เพราะถ้าออกกฎหมายไป มันก็จะกลับมาทำลายหม้อข้าวหม้อแกงตัวเอง รัฐบาลกลัวแรงต้านของนายทุน เพราะรัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลทุน"

ขณะที่ประภาสเสนอว่า ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า คนที่มีที่ดินกระจุกตัวเยอะๆ ก็จะไม่ปล่อยที่ดินออกมา

"ดังนั้นจึงต้องใช้มาตรการภาษีบังคับ นั่นคือในประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้เป็นสังคมนิยม ก็ต้องใช้มาตรการแบบนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพยายามผลักให้เชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องของภาษี ที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชนนี้ต้องไปได้ไกล"

ทั้งนี้ ต้องมีการยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ที่มีที่ดินถือครองในมูลค่าน้อยหรือเกษตรกรที่ ยากจน เพื่อไม่ให้ภาระภาษีตกแก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและต้องอาศัยที่ดินเป็น ปัจจัยการผลิตเพื่อดำรงชีพ

เก็บภาษีที่ดิน ตั้งเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินมาจัดสรร จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการจัดการเรื่องโฉนดชุมชน

"ในท้ายที่สุด เมื่อชาวบ้านผ่อนเสร็จ รัฐก็ต้องโอนที่ให้แก่สหกรณ์ไปบริหารจัดการในรูปแบบชุมชนต่อไป ก็คือเจ้าของก็จะเป็นนิติบุคคล มีสลักหลังว่าห้ามซื้อขาย แต่ว่าให้จัดสรรแก่สมาชิกใช้ประโยชน์ได้"

นี่จึงน่าจะเป็นแนวทางนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน หากไม่มีเรื่องโฉนดชุมชน การเก็บภาษี หรือกองทุนธนาคารที่ดิน คนจนก็จะไม่มีทางเข้าถึงที่ดินได้ เมื่อเข้าถึงที่ดินไม่ได้ และมีการกระจุกตัวอยู่แค่คนจำนวนไม่มาก แน่นอนว่า ย่อมหนีไม่พ้นที่ชาวบ้านต้องบุกเข้าไปในที่ดินของรัฐ กระทั่งที่ดินที่ถูกจับจองโดยเอกชน

เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การรักษาทรัพยากรที่ดินเพื่อทำการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหารสำหรับคนเมืองอย่างเราๆ ที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในภาคการผลิตเหมือนเช่นเกษตรกรที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ ของประเทศ

"ที่ดินทิ้งร้างแบบนี้" ดิเรก ว่า พลางชี้ชวนให้ดูรอบๆ แสงสุดท้ายของวันจับอยู่ที่ปลายฟ้า "ถ้าได้ทำประโยชน์ ก็พอจะได้เก็บกิน ได้ขาย เอามาเป็นค่าเครื่องนุ่งห่ม ใช้จ่าย ให้ลูกเรียน"

หลักการที่ชุมชนดูแลกันเองมันเป็นจริงได้อยู่แล้ว - เขาย้ำประโยคนี้หนักแน่น

คนจนไร้ที่ดินเพราะ?


คาดการณ์ว่า สาเหตุที่คนจนไม่มีที่ดินทำกินเกิดจาก การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทับที่อยู่ อาศัย การย้ายที่อยู่อาศัยจากสังคมชนบทสู่เมือง และการถูกไล่ที่

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องการใช้อิทธิพลในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ที่ทำการศึกษาโดย ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และคณะว่า ผู้มีอิทธิพลสามารถใช้กลไกของรัฐในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากทรัพยากร ที่ดินและป่าไม้ ในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถใช้กลไกดังกล่าวได้

สอดคล้องกับงานวิจัยของธรรมศาสตร์ซึ่งคำนวณการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องในประเทศไทยจำนวน 130 ล้านไร่

ร้อยละการถือครอง 10 (6.5 ล้านคน) / 100 ล้านไร่
ร้อยละการถือครอง 90 (60 ล้านคน) / 30 ล้านไร่

ก้าวหน้าด้วยภาษีที่ดิน


การจัดเก็บภาษีที่ดินที่ จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ควรมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน ใครมีที่ดินมากต้องเสียภาษีที่มาก และควรพิจารณาจากมูลค่าของที่ดินด้วย

ถ้าพิจารณาจากที่ดินของนักการเมือง 10 อันดับแรก เสียภาษีแค่ ร้อยละ 0.1 ของราคาที่ดิน จะต้องเสียภาษี 5.3 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าเป็นร้อยละ 0.3 ต้องเสียภาษี 16 ล้านบาท ทั้งนี้ การเก็บภาษีที่ดินต้องเชื่อมโยงกับกองทุนธนาคารที่ดิน คือต้องนำภาษีในสัดส่วนหนึ่งเอาเข้าไปไว้ในธนาคารที่ดิน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook