นักเรียนปล่อยบอลลูน "ดาวเทียมจำลอง" ตรวจสภาพอากาศ ใครเจอกล่องส้มๆ วอนอย่าแกะ
นักเรียนปล่อยบอลลูน "ดาวเทียมจำลอง" ตรวจสภาพอากาศ รุ่นพี่นักศึกษาฝากยีสต์ขึ้นไปทดลองด้วย วอนใครเจออย่าแกะกล่อง
(11 ธ.ค.65) เวลา 8.30 น. คณะนักเรียน ศูนย์การเรียนรู้การบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ ได้ทำกิจกรรมปล่อยดาวเทียมจำลอง ไปกับบอลลูนตรวจสภาพอากาศขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า High – Altitude Balloon Nano Satellite ที่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ ถึงระดับความสูง 15-30 กิโลเมตร จากพื้นโลกหรือมากกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซที่บรรจุ แรงลม อุณหภูมิ และ สภาพอากาศ ณ สถานีเรดาห์ฝนหลวง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
ซึ่งกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักคือ การจำลองการออกแบบการสื่อสารดาวเทียม ให้ถ่ายภาพจากมุมสูง และ สื่อสารไปกลับระหว่างสถานีภาคพื้น Ground Station จนสามารถระบุพิกัดการตกของดาวเทียมเพื่อการติดตามเก็บกู้ตัวดาวเทียมกลับคืนมาได้สำเร็จ
ขณะเดียวกันทางคณะอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฝากเชื้อยีสต์ขึ้นไปทำการทดลองด้วย 3 กล่อง เพื่อต้องการสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของยีสต์
สำหรับกิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลและแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ครูอาจารย์และนักเรียนรุ่นพี่ ซึ่งเคยมีผลงานระดับแชมป์โลกและรองแชมป์โลกมาแล้ว โดยการลอยอยู่ของบอลลูน ตามสภาพอากาศปกติอยู่ประมาณ 5-6 ชม. ก็จะตกลงบนพื้นดิน ซึ่งทิศทางการเคลื่อนที่ใกล้และไกลก็จะเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของลม หากสภาพอากาศผิดปกติ บางครั้งอาจจะตกลงเร็วกว่ากำหนด หรือนานออกไปกว่า 1 สัปดาห์ โดยทิศทางความเคลื่อนไหว ก็จะสามารถตรวจสอบได้ทางสัญญาณภาพและวิดีโอที่ส่งลงมายังคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือด้านล่าง
โดยกิจกรรมนี้ ได้เริ่มครั้งแรกเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ จำนวนมาก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเปิดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป