เชียงใหม่ฮือฮา ลูกไฟปริศนาคล้ายดาวหาง ที่แท้เป็นขีปนาวุธอินเดีย ไม่มีผลกระทบกับไทย
ลูกไฟปริศนาคล้ายดาวหางดวงใหญ่ สดร.แจงเป็นขีปนาวุธอินเดีย ห่างไทยกว่า 2 พันกิโลเมตร ไม่มีผลกระทบอะไร
เมื่อคืนที่ผ่านมามีประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่มองเห็นลูกไฟขนาดใหญ่คล้ายดาวหาง เหนือท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันตก สร้างความฮือฮาให้กับหลายคนเพราะไม่เคยเห็นภาพลูกไฟขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก nui siripong ได้ถ่ายคลิปวิดีโอวัตถุดังกล่าวไว้ได้ ขณะอยู่ในพื้นที่อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ บอกว่าเคลื่อนที่จากขวาไปซ้ายอย่างช้าๆ และกับบอกว่าภาพที่เห็นรู้สึกตื่นตะลึง ยิ่งกว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมาเสียอีก นอกจากนี้ยังมีผู้ที่พบเห็นจากพื้นที่อื่น ๆ และถ่ายภาพแชร์กันไปในโลกโซเชียล
นายสิริพงษ์ จินดาหลวง เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เจ้าของคลิป เล่าว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเวลา 19.39 น. ขณะนั่งทานอาหารกับเพื่อนเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการแม่ปูนหลวง ก็พากันมองดูบนท้องฟ้าหวังมีฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมาหลงเหลือให้เห็น บังเอิญมองเห็นดวงไฟเล็กๆ เคลื่อนที่ช้า ก่อนที่เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงรีบนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายคลิปไว้ ซึ่งในตอนนั้นต่างก็เดากันว่าเป็นไอพ่นจากเครื่องบินที่บินผ่าน แต่พอเช้ามาก็ทราบข่าวว่าที่แท้เป็นขีปนาวุธอินเดีย ก็รู้สึกตกใจเพราะไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นขีปนาวุธมาก่อน
นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้าโครงการติดตามวัตถุใกล้โลก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. บอกว่า วัตถุปริศนาเหนือท้องฟ้าที่พบคือเที่ยวบินทดสอบจรวดขีปนาวุธข้ามทวีป อัคนี 5 ของอินเดีย โดยยิงจากเกาะอับดุล กะลาม (Abdul Kalam) บริเวณรัฐโอฑิศา ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย ในเวลา 17.30 น. ตามเวลาประเทศอินเดีย ตรงกับเวลา 18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยมีทิศทางตรงไปสู่อ่าวเบงกอล
สำหริบทิศทางการยิงทดสอบขีปนาวุธจะขนานกับประเทศไทยและเมียนมาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2,000 กิโลเมตร ส่วนที่ทำให้มองเห็นเป็นลูกไฟมาจากเชื้อเพลิงที่ปล่อยออกมากระเจิงแสง ทำให้สามารถมองเห็นได้ในช่วงค่ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง โดยภาพที่ถ่ายไว้ได้เมื่อคืนนี้คาดว่าจะยาวหลายสิบกิโลเมตร แต่ไม่มีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยเพราะไม่ได้มีทิศทางพาดผ่าน
นายสิทธิพร บอกว่า วัตถุบนท้องฟ้าที่พบในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่นชิ้นส่วนของจรวดโซยูสของรัสเซียเมื่อหลายปีก่อน หรือ การปล่อยจรวดขนส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา