ยีน สึนามิ ในวันที่คลื่นลมสงบ
โดย : ปองพล สารสมัคร
คลื่นยักษ์จากไป ครบ 5 ปี เกือบทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิม ยกเว้น จิตใจ ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะหาย มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลร้ายผ่านยีนไปสู่ลูกๆ หลานๆ
วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี ป้าสายสุนีย์ ทองสกุล ชาวบ้านหาดกำมะลา จ.ภูเก็ต วัย 46 ปีต้องง่วนอยู่กับการเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับประวัติครอบครัว เช่น ใบสูติบัตร หรือทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย โดยนำไปเคลือบพลาสติกไว้เป็นอย่างดี เผื่อว่า หากวันใดวันหนึ่งมีคลื่นยักษ์สึนามิพัด มาถล่มหมู่บ้านที่ป้าอาศัยอยู่อีกครั้ง เอกสารเหล่านี้จะได้ไม่จมน้ำและลอยหายไป อย่างนี้มันก็ยังช่วยระบุไว้ได้ว่าครอบครัวป้ามีใครบ้าง
ป้าสายสุนีย์ทำเช่นนี้เป็นประจำทุกปี ก่อนที่จะเดินทางไปร่วมงานรำลึกเหตุการณ์สึนามิเพื่อ ไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่คลื่นยักษ์ได้ถล่มพื้นที่ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่และสตูล รวมทั้งได้คร่าชีวิตไปกว่า 5,000 ชีวิต รวมทั้งคนไทยและคนต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าว
"พอคิดถึงเหตุการณ์ยังสะเทือนใจอยู่ หลังจากที่น้ำเข้ามาพัดพาบ้านพังหมด หลังจากนั้นก็เหมือนคนบ้า จิตใจมันยังไงไม่รู้ มันบอกไม่ถูก ตอนนี้ผวา กลัว เสียงลมก็กลัว" ป้าสายสุนีย์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ไม่มีใครคาดคิดว่าแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ที่เกิดในบริเวณตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 07.58 น.ในวันที่ 26 ธันวาคมปี 2547 จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียจนทำให้เกิดความเสียหายไปทั่ว 11 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
เช้าวันนั้น คลื่นยักษ์ได้ซัดเข้าหาชายฝั่งหาดกำมะลาอย่างแรง จนทำให้อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถล่มลงมาและพังเสียหายจำนวนมาก รวมทั้งบ้านชั้นเดียวของป้าสายสุนีย์
แม้ป้าจะไม่ได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัว แต่ป้าก็ไม่อาจลืมภาพชาวบ้านที่พยายามร้องขอความช่วยเหลือ ขณะที่ตะเกียกตะกายให้รอดพ้นจากคลื่นยักษ์ แต่สุดท้ายป้าก็ช่วยไม่ได้ และชาวบ้านคนนั้นก็จมหายไปในที่สุด
"เห็นคนจมน้ำไปกับตาแล้วก็ร้องให้เราช่วย แต่เราช่วยเขาไม่ได้ เพราะมีทั้งลูกทั้งหลานที่เราต้องช่วย เราก็บอกให้เขาว่ายน้ำมา มายึดตรงไหนก็ได้ เขาก็บอกว่า เขาว่ายน้ำไม่เป็น ไม้หักลงมา เขาก็ไปเลย"
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ป้าสายสุนีย์ไม่กล้าที่จะออกไปไหนนอกบ้านเลย แม้แต่เดินเล่นบนชายหาด
"แฟนก็เพิ่งด่าให้ไปเดินชายหาดบ้าง ลงทุนซื้อรองเท้าให้สองคู่ แต่ไม่ได้เดิน จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่กล้า"
เหตุการณ์สึนามิไม่ เพียงทำให้ป้าสายสุนีย์กลายเป็นคนวิตกกังวล กลัวเสียงลมและคลื่น แต่ยังทำให้ชีวิตของป้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ป้าเคยได้รายได้วันละ 3,000-4,000 บาทจากการนวดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อ 6 ปีก่อน ปัจจุบันเงินได้ที่จากการนวดแทบจะไม่มี นอกจากจะมีแขกมานวดที่บ้านหรือไปนวดที่โรงแรม แต่ก็พอจุนเจือครอบครัว
ทุกวันนี้ อาการวิตกกังวลของป้าสายสุนีย์ดีขึ้นบ้าง แต่พอนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทีไร ป้าสายสุนีย์ก็รู้สึกท้อแท้อย่างบอกไม่ถูก แม้ตอนนี้อาการจะหายบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่ลืม ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่วัดได้ 7 ริกเตอร์หรือมีประกาศเตือนภัยแผ่นดินไหว ป้าสายสุนีย์เป็นต้องตะลีตะลานวิ่งออกจากบ้านหนีขึ้นไปอยู่บนเนินเขาใกล้ บ้าน รอจนกว่าทางการจะประกาศยกเลิกถึงจะลงมาจากที่สูงและกลับบ้าน
"ฉันจะลงมาหลังเพื่อนทุกครั้งไม่เคยลงมาก่อน กลัว" ป้าสายสุนีย์สารภาพ
ถึงตายก็ไม่ไป "ชายหาด"
เช่นเดียวกับป้ายุพา ศรีศิริ อายุ 60 ปี ชาวบ้านบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาที่ต้องคอยเฝ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวตลอดเวลา โดยเฉพาะแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย พอได้ยินข่าวว่าประเทศอินโดนีเซียเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่วัดได้ 7 ริกเตอร์ ป้ายุพาก็หนีเหมือนป้าสายสุรีย์
นอกจากข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแล้ว ป้ายุพายังติดตามการรายงานข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะน้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนืออีกด้วย เพราะกลัวว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดคลื่นยักษ์เหมือน 5 ปีก่อน
คราวนั้น คลื่นยักษ์ได้พลัดพรากหลานชายวัย 6 ขวบออกไปจากอ้อมกอดของป้ายุพา ขณะที่นั่งในรถกระบะมุ่งหน้ากลับบ้านและผ่านบริเวณแหลมสน
"จำได้ แต่ก็อยากจะลืม" ป้ายุพากล่าวสั้นๆ ขณะที่นัยน์ตาทั้งสองข้างเริ่มแดงก่ำ
ขณะที่ป้ายุพากำลังหยอกล้อกับหลานชายในรถกระบะ ทันใดนั้นคลื่นยักษ์ซัดมาอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้รถกระบะคันที่ป้ายุพานั่งอยู่ด้านหน้าพลิกคว่ำ คลื่นซัดแรงมากจนป้ายุพาไม่อาจจะต้านทานไหว หลานชายตัวเล็กต้องหลุดออกจากอ้อมกอดและจมหายไปพร้อมกับคลื่นทะเลมหาโหด 1 เดือนหลังจากนั้น ป้ายุพาจึงได้พบร่างไร้วิญญาณของหลานชายสุดที่รัก
"อยากตาย อยากจะลืมๆ มันไป ไม่อยากจะพูดอีก ไม่อยากจะอยู่ที่นี่ แต่ก็ต้องอยู่ต่อไป เพราะเราไม่มีที่ที่จะไป"
ความเศร้าโศกเสียใจทำให้ป้ายุพากลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อใดที่มองเห็นสีของท้องฟ้าและท้องทะเลกลายเป็นสีเทาดำ ความหวาดกลัวก็โผล่ขึ้นมากลางจิตใจทันที จนทำให้ป้ายุพาไม่กล้าอยู่บ้านคนเดียว แม้จะอยู่กับลูกชายอีกสองคน แต่ก็ไม่สามารถทำใจได้ เมื่อนึกภาพหลานชายหลุดจากอ้อมแขน และทุกครั้งที่ยินเสียงคลื่นทะเล ป้ายุพาก็ไม่สามารถข่มตาให้นอนหลับได้อย่างสนิทในยามวิกาล
ป้ายุพาตัดสินใจไปขออาศัยอยู่บ้านดอนบอสโก ตะกั่วป่าซึ่งเป็นสถานที่อุปถัมภ์เด็กที่สูญเสียพ่อแม่จากเหตุการณ์สึนามิ ป้ายุพาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลเด็ก 85 คนที่นี่ บางครั้งก็ออกไปเล่นๆ กับเด็กเพื่อคลายความเหงาและบรรเทาความเศร้าให้กับตัวเอง ป้ายุพาใช้เวลาประมาณ 2 -3 ปีในการทำใจและพอจะลืมเลือนเหตุการณ์อันเลวร้ายได้บ้าง แต่ถ้าชวนไปผ่อนคลายด้วยการเดินเล่นบนหาดทราย ป้ายุพาขอปฏิเสธอย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งจะทำให้จิตใจแย่ลงกว่าเดิม
ไม่เพียงแต่ป้ายุพาเท่านั้นที่รู้สึกเช่นนั้น ลุงถวิล ด้วงใส ชาวบ้านน้ำเค็มวัย 60 ปีก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่ไปทะเล ลุงถวิลก็คิดถึงภรรยาและลูกสาวสองคนที่เสียชีวิตในคลื่นยักษ์
วันนั้นลุงออกไปตัดผมแต่เช้า และบอกให้ลูกสาวเฝ้าร้านขายของไว้ พอลุงไปถึงร้านตัดผม ลูกสาวก็โทรมาบอกว่า "พ่อ พายุเต็มไปหมดเลย" หลังจากนั้นสายโทรศัพท์ถูกตัดและขาดการติดต่อทันที ลุงถวิลรีบขี่มอเตอร์ไซค์จากร้านตัดผมมุ่งหน้าไปที่บ้านอย่างรวดเร็ว แต่ก็สายเกินไป ทุกอย่างถูกคลื่นยักษ์กวาดเรียบเป็นหน้ากอง
"ตอนนั้นทุกคนวิ่งหนีคลื่น แต่ลุงกลับวิ่งเข้าหาคลื่น พอไปถึงที่บ้าน ทุกอย่างก็หายไปหมด ลุงตามหาศพเมียกับลูกอยู่สองเดือนเศษกว่าจะเจอ" ลุงถวิลเล่า "พยายามทำใจเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เลย"
วันไหนคิดถึงลูกเมียขึ้นมา ลุงก็จะไปอนุสรณ์สถานบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ไปดูป้ายชื่อของเมียและลูกสาวอีก 4 คนที่เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์
"ถ้าคิดถึงทีไร น้ำตาก็ไหลออกมาเรื่อยๆ อยู่ว่างๆ ก็คิดถึงคนที่เขาจากไป แต่ตอนนี้พยายามอยู่กับเพื่อนๆ ไม่คิดอะไรและมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง อย่างน้อยวันหนึ่งข้างหน้ามันอาจจะดีขึ้น" ลุงถวิลกล่าวสั้นๆ
6 ปีก่อนหน้านี้ลุงถวิลเคยมีรายได้อย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาทจากการทำประมงและขายปลาทะเล แต่ทุกวันนี้ลุงถวิลรับจ้างสถานีอนามัยใกล้บ้านเป็นผู้รักษาความปลอดภัยใน ยามวิกาลตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึงหกโมงเช้า ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่หลับนอนแทนบ้าน ลุงถวิลเล่าให้ฟังว่าบางวันก็รู้สึกว่ามีเมียมานอนข้างๆ ด้วย
พอถามว่าลุงไม่คิดจะมีเมียใหม่เหรอ ลุงตอบแบบอมยิ้มว่า "เฉยๆ ไม่คิดอยากจะมีใหม่หรอก"
ฝันยังวิ่งหนี
การฟื้นฟูสภาพจิตใจตัวเองจาก เหตุการณ์อันเลวร้ายในชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ หลายคนต้องพึ่งยารักษาต้านทานกับความเศร้า แต่หลายคนก็พยายามให้กำลังใจตัวเองต่อสู้ให้ชีวิตผ่านพ้นวิกฤตไปได้
ลุงวิมล ทองแท้ ชาวบ้านน้ำเค็มวัย 53 ปี เป็นหนึ่งในอีกหลายร้อยคนที่เศร้าเสียใจจากการสูญเสียลูกสาววัย 3 ขวบในเหตุการณ์สึนามิ แต่ปัจจุบันสภาพจิตใจของลุงวิมลดีขึ้นมาก หลังจากที่ได้ลูกสาวคนใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 คน
"พยายามนึกถึงลูก นึกถึงแม่ นึกถึงคนที่ยังอยู่ เราต้องสู้ ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่หมด ทำใจยากเหมือนกัน สึนามิเหมือนเรามีแผลอยู่ในใจยากที่เราจะรักษาเยียวยา" ในใจของลุงวิมล
"บางวันลุงก็ยังฝันถึงเรื่องสึนามิ ฝันถึงเรื่องเก่าๆ ฝันถึงคลื่นยักษ์ ในความฝันลุงบรรยายว่าคลื่นมาเหมือนจริงมาก พยายามจะวิ่งแต่ก็วิ่งไม่ได้ มีหลายคนก็ฝันเหมือนกับลุง
ตอนนี้ลุงวิมลเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ในหมู่บ้านรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แม้ไม่มากนักแต่ก็พอส่งเสียลูกสาวคนโตเรียนหนังสือจนถึงระดับมัธยมได้ ทุกวันนี้ลุงวิมลพยายามทำงานให้มากขึ้น ขยันให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ภาพในอดีตมาทำลายชีวิตในปัจจุบัน
เหยื่อผ่านยีน?
จากการศึกษาภายใต้โครงการจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพจิตและฐานข้อมูลพันธุกรรมของผู้รอดชีวิตจากคลื่นสึนามิใน เขต 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ โดย ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ พบว่า แม้ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้รับผลกระทบทางด้านร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะโรคเครียดรุนแรงหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ Post traumatic Stress Disorder - PTSD
คณะนักวิจัยได้เก็บข้อมูลหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิประมาณ 1 เดือนเพื่อค้นหาผู้ป่วย PTSD จากตัวอย่าง 3,133 รายพบว่ามีผู้ป่วย PTSD ประมาณร้อยละ 33.6 โดยร้อยละ 14.27 มีอาการของโรคซึมเศร้ารวมด้วย และจากการเก็บข้อมูลในระยะที่สอง หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิประมาณ 6 เดือนจากตัวอย่าง 2,573 รายพบว่ายังมีผู้ป่วย PTSD เหลือประมาณร้อยละ 21.6 และในกลุ่มนี้เองถือว่าเป็นกลุ่มโรค PTSD เรื้อรัง และได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทาง พันธุกรรม
"จากการศึกษาพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิด PTSD ได้แก่ เพศหญิง อายุน้อย แต่งงานแล้ว การศึกษาระดับน้อย อยู่ในพื้นที่ประสบเหตุ มีความเจ็บป่วยร่างกายอยู่เดิม มีประวัติการได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจมาก่อน ในจำนวนนี้ ช่วงอายุน้อยกว่า 12 ปีและช่วงอายุ 12 - 18 ปี รู้จักความรุนแรงของคลื่นสึนามิมาก่อน ได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกาย สูญเสียอาชีพ สูญเสียทรัพย์สินและสูญเสียสมาชิกในครอบครัว" ศ.พญ.นันทิกา เผย
จากข้อมูลชุดเดียวกัน ยังศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดของ บุคลิกภาพ และกลไกการแก้ไขปัญหา พบว่า บุคลิกภาพ เกี่ยวกับการกล้าแสดงออกและมีความมั่นคงทางด้านจิตใจ เป็นปัจจัยป้องกันการป่วยเป็น PTSD ส่วนกลไกการแก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจัยป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว คือ การมีอารมณ์ขัน รู้จักสร้างความคิดทางบวก
สำหรับการดำเนินงานศึกษาความสัมพันธ์ของรหัสทางพันธุกรรมกับการเกิด PTSD ครั้งนี้ศูนย์ความเป็นเลิศ ฯ และผู้วิจัยหลักได้ทำข้อตกลงในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยจาก ทางสถาบันพันธุกรรมศาสตร์การแพทย์ ริเคน (RIKEN Center for Genomic Medicine) ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ได้ส่งนักวิจัยไทยไปปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่นและมีการติดตามการดำเนินงาน เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้โครงการกำลังดำเนินการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมา ผนวกเข้ากันระหว่างปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากความเปราะบางทางพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านจิตใจและสังคม"
ทั้งหมดตั้งอยู่บนสมมติฐาน (ปนความเป็นห่วง) ว่า ภาวะที่เกิดขึ้นกับเหยื่อคลื่นยักษ์รุ่นนี้ นอกจากความรู้สึกที่บอบช้ำแล้ว ลักษณะดังกล่าวจะมีผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูก-หลาน ผ่าน "ยีน" หรือหน่วยพันธุกรรม
และเป็นไปได้ว่า "พวกเขา" แม้จะเกิดไม่ทันเหตุการณ์เลวร้าย แต่อาจลงท้ายเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ไปอีกหลายต่อหลายเจเนอเรชั่น
โปรดติดตามผลโดยจดจ่อ...