หมอกฤตไท ป่วยมะเร็งปอดระยะ 4 เผยข่าวดีต้อนรับปีใหม่ ตอบสนองการรักษาดีมากๆ
หมอกฤตไท เจ้าของเพจ สู้ดิวะ อัปเดตหลังป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ตอบสนองการรักษาดีมาก รอลุ้นก้อนในสมองช่วงต้นปี
จากกรณี นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ที่ได้ออกมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น จนกระทั่งก้าวเข้าสู่วัยทำงาน กำลังจะแต่งงาน กำลังจะซื้อบ้าน ดูแล้วเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็เจอจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อเขารู้สึกผิดปกติ แล้วมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม และเป็นระยะสุดท้าย
- หมอหนุ่มวัย 28 เปิดเพจ "สู้ดิวะ" แชร์เรื่องราวกำลังจะแต่งงาน แต่ตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย
- หมอหนุ่มวัย 28 ป่วยมะเร็งปอด ตกใจกระแสโซเชียล เผยกำลังทำคีโม ยังไม่พร้อมเจอใคร
ล่าสุด วานนี้ (25 ธ.ค.) นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ได้โพสต์สวัสดีปีใหม่ พร้อมเล่าถึงอาการป่วยมะเร็งระยะที่ 4 หลังตอบสนองต่อการรักษาดีมากๆ ก้อนใหญ่ที่ปอดขวาเล็กลง ก้อนเล็กที่ปอดซ้ายก็หายไปหมด ร่างกายแข็งแรงกว่า 3 เดือนที่แล้วอีก
โดย หมอกฤตไท ระบุว่า "สวัสดีปีใหม่ครับ สามเดือนแล้วหลังจากที่ผมถูกวินิจฉัยเป็นมะเร็งปอดระยะสี่ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตได้เป็นชีวิตที่สุดเลยครับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองใช้ชีวิตได้ดีแล้ว แต่พอป่วยนี่ สามารถตัดสินใจเลือกอะไรในชีวิตได้ดีขึ้นเยอะเลยครับ เหมือนได้ปลดล็อกตรรกะการคิดใหม่
เมื่อสามเดือนก่อน ผมไม่กล้าคิดถึงช่วงเวลาที่อากาศเย็น มีต้นคริสมาสต์ที่ประดับไฟ ผู้คนออกมาแต่งตัวสีเขียวแดง และแลกของขวัญกัน รวมถึงการที่จะได้มาสวัสดีปีใหม่ทุกคนเช่นนี้ครับ
ชีวิตผมสั้นมาก หมายถึงว่า ผมมองชีวิตตัวเองเป็นเกมส์ชีวิตสั้นๆ เล่นรอบละสามสัปดาห์ เริ่มที่ไปนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาเคมีบำบัดและยากระตุ้นภูมิ พอได้ยาแล้วก็รับมือกับผลข้างเคียง ระวังไม่ให้ติดเชื้อหรือมีอะไรแทรกซ้อน หลังจากอาการนิ่งก็เตรียมร่างกายเพื่อรับยาครั้งต่อไปในอีกสามสัปดาห์ต่อไป ไม่ได้วางแผนอะไรที่เกินเดือนเลย เพราะมันไม่มีอะไรแน่นอนเลย ลองคิดภาพว่า ผมตื่นมาแล้วต้องลองขยับแขนขา ลองถูมือดูว่าชาไหม และลองลืมตามาเช็กว่าตัวเองยังมองเห็นดีอยู่นะ ผมคงไม่กล้าคิดถึงงานปีใหม่หรืองานวันเกิดตัวเอง
ชีวิตในแต่ละวันของผมจึงช้าลง แต่ก็ละเอียดขึ้นมากเช่นกัน เพราะต้องสังเกตทุกอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ต้องลงรายละเอียดกับการเลือกอาหาร เลือกน้ำ การออกกำลังกาย กินยา และจัดการกับสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่างน้ำประปาที่เคยใช้ตามปกติ พอมากรองดูก็เพิ่งรู้ว่ามันสกปรก และอากาศทีเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นแรกสุดของมนุษย์ ล่าสุดก็ต้องติดเครื่องแรงดันบวกเพื่อดันอากาศที่สกปรกออกจากห้อง เราอยู่ในยุคสมัยที่ต้องซื้ออากาศสะอาดหายใจแล้วจริงๆครับ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดการกับสภาพจิตใจ เพราะสิ่งที่มากระแทกชีวิตผมตอนนี้มันแรงมากพอที่ผมจะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตตัวเองแล้ว ผมมีเวลาและเหตุผลให้กับตัวเองมากพอ ที่จะทุ่มเทกับการศึกษาศาสตร์ของจิตใจ ทั้งทางศาสนา และทางจิตวิทยา
ที่ผ่านมาผมเองก็เหมือนวัยรุ่น productive วัยใกล้สามสิบปีทั่วไปครับ เรื่องศาสนา เรื่องจิตใจ ความสงบ การจัดการกับความคิด อารมณ์ความรู้สึกตัวเอง ดูเป็นสิ่งที่เป็นความเชื่อ ไม่มีหลักการ และไกลตัวมากๆ เมื่อเทียบกับ งาน เงิน สิ่งของ ชื่อเสียง ที่ต้องไขว่คว้าในแต่ละวัน เอาเป็นว่าเดินเข้าไปในร้านหนังสือ พวกหนังสือที่วางหน้าร้านแนวพัฒนาตัวเอง การลงทุน how to นั่นนู่นนี่ ผมคิดว่าผมเคยอ่านและเข้าใจหลักการเป็นส่วนใหญ่แล้วครับ ช่วงก่อนที่จะป่วยก็มีช่วงที่เดินเข้าไปแล้วไม่รู้จะซื้ออะไรมาอ่านแล้วเหมือนกัน
แต่ในช่วงที่ป่วยนี้ ผมเจอกับโจทย์ชีวิตใหม่ ซึ่งหนังสือก็ยังคงเป็นทางออกแรกๆที่ผมเลือกจะมองหา แต่การเดินเข้าไปในร้านหนังสือชื่อดังเหล่านั้น ไม่มีหนังสือที่สามารถตอบคำถามในชีวิตผมในตอนนี้ได้เลย ผมไม่เห็นว่าการมีทักษะการลงทุน การเริ่มทำธุรกิจ ความเป็นผู้นำ เป็นยอดนักขาย เป็นคนเก่งที่คุยเป็น เคล็ดลับจากมหาลัยดัง วิถีการคิดการทำงานของอัจฉริยะ หรือวิธีที่ผมจะอยู่รอดในยุคเอไอ จะทำให้ผมลดความกังวล หรือทำให้ผมมีความสุขในสถานการณ์ที่ผมกำลังจ้องหน้ากับความตายแบบนี้ได้เลย
เอาจริง หนังสือในบ้านเราไม่ได้มีทางเลือกขนาดนั้น มันก็มีบ้าง แต่หายากและมีส่วนน้อยมากๆครับ
แล้วผมไม่ใช่สไตล์ที่อ่านหนังสือนิยาย หรือแนวสะท้อนอารมณ์ ผมยังต้องการความสนุกในการอ่านแล้วคิดตามหลักการเหตุผลที่น่าสนใจ
ผมกำลังมองหาหนังสือที่พูดถึงชีวิตจริงๆ การพัฒนาจิตใจให้รับมือกับความตาย หนังสือที่ไม่ได้ติดอาวุธให้เราไปสู้ในสังคมทุนนิยม แต่ผมมองหาหนังสือที่ติดอาวุธให้ผมไปสู้กับไอ้ความกังวลในใจผม ไปสู้กับความคิดว่าถ้าโรคกำเริบ ถ้าอาการแย่ลง คือผมเป็นหมอที่ดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายครับ ผมแทบจะรู้ทุกอาการที่จะเกิดจากภาวะต่างๆ ขั้นตอนการช่วยเหลือ หัตถการการยื้อชีวิต รวมถึงอาการในช่วงสุดท้าย
ผมต้องที่จะรับมือกับสภาวะจิตใจนี้โดยที่ไม่อาศัยเพียงความเชื่อ แต่อยากได้หลักการที่เป็นเหตุเป็นผลได้ ไม่เอาบทสวดภาวนาหรือพิธีการที่ผมเองอาจเข้าไม่ถึง ไม่ได้ตามหาหนังสือศาสนาขั้นสูงเพราะผมคงอ่านไม่เข้าใจ มันเลยเหลือหนังสือที่อยู่ตรงกลางนี้น้อยมากๆในชั้นหนังสือบ้านเรา (เท่าที่ผมทราบ)
ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้อ่านหนังสือสองสามเล่มที่ช่วยให้ผมมีมุมมองในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ เรียกว่าเป็นการติดอาวุธให้ตัวเองไปสู้กับตัวเองข้างใน เมื่อก่อนผมเอาแต่ติดอาวุธไปสู้โลกข้างนอก สู้กับ Disruption สู้กับ AI
แต่อันนี้เป็นโจทย์อีกแบบหนึ่งเลยที่ไม่ต่างกับทักษะด้านอื่นๆในชีวิต คือถ้าเราไม่ฝึกเราจะทำไม่เป็น แต่ถ้าเราฝึกซ้อมเราจะค่อยๆทำได้ดีขึ้น และวันหนึ่งคงจะเชี่ยวชาญในการรับมือกับสภาวะของจิตใจ รับมือกับความตายได้ดีขึ้น
ศาสตร์ทางโลกที่ผมวิ่งตามมาทั้งชีวิตเหมือนพยายามจะบอกว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปตลอด เหมือนกับหลายอย่างในชีวิตมันสามารถกำหนดได้และมั่นคงแน่นอน เราต้องทำอย่างนั้นเพื่อให้ได้อย่างนี้ ต้องสะสมบางสิ่งเพื่อได้บางอย่าง ทำให้เราอยากได้อะไรที่มากขึ้นเรื่อย ต้องเก่งขึ้น ต้องรวยขึ้น
แต่ศาสตร์ทางธรรมพยายามจะบอกเราว่า เราต้องตายนะ มันไม่มีอะไรเป็นของเรา และมันไม่มีอะไรแน่นอนเลย เหมือนเราเข้ามาเล่นเกมส์ สวมบทบาทเป็นตัวละครนี้ จะหยิบอะไรมาใส่ มาสะสมมากแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่ใช่ของเราอยู่ดี แล้วจุดพีคของเกมส์นี้ ที่เราลืมไป หรือพยายามจะไม่มองมันคือ เกมส์นี้มีเวลาหมด ที่พีคกว่า คือไม่มีใครรู้ว่าจะหมดเมื่อไร อาจเป็นพรุ่งนี้เลยก็ได้
ใช่ครับ ความจริงที่สุดคือ เราต้องเลิกเล่นเกมส์นี้ในสักวันครับ เราคิดว่าชีวิตเป็นของเรา ทุกอย่างที่เรามี ร่างกายนี้เป็นของเรา แต่เมื่อถึงวันนั้น วันที่เราไม่ได้เป็นคนกำหนด เราไม่มีสิทธิอะไรเลยกับไอ้สิ่งที่เราบอกว่าเป็นของเราครับ และวันนั้นคือ วันตายครับ เราต้องตายครับ และผมมั่นใจในเรื่องนี้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ
ผมคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่คิดถึงความตายน้อยมากๆครับ เราคิดว่า “คงไม่ใช่เราหรอกน่า” “ยังไม่ถึงเวลา” “ใครจะไปซวยขนาดนั้น”
เพราะมนุษย์เราถูกเซ็ทค่าพื้นฐานมาให้กลัวความตายครับ มีนักจิตวิทยากล่าวว่า ที่มนุษย์เราต้องทำตัวให้ยุ่งไว้ หรือที่ไม่สามารถอยู่นิ่งๆเฉยๆได้ เพราะมนุษย์กลัวที่จะคิดถึงความตายครับ เขาว่าศาสตร์ทางโลกทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อให้เรายุ่งมากพอที่จะไม่ไปคิดถึงความตายครับ
ดังนั้นถ้าเรายอมรับอย่างจริงใจได้ว่า “เราต้องตายนะเว้ย สุดท้ายเราจะตาย และมันอาจเป็นพรุ่งนี้ก็ได้” มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตที่สำคัญมากๆจุดหนึ่งครับ
เมื่อก่อนผมเป็นคนสุดโต่งคนหนึ่งที่คิดว่า ถ้าเราจะอยู่ในโลกแบบนี้เราต้องแข่งขัน แย่งชิง ต้องเป็นที่หนึ่ง เติบโต ก้าวหน้าแบบนี้ เราจะมาแบบ ธรรมะ เมตตา ปล่อยวางได้ยังไง แต่เอาจริง มันไปด้วยกันได้นะ มันก็เหมือนเราเล่นเกมส์แล้วไปอัพสกิลอีกสายหนึ่งมาเสริมตัวละครแหละครับ
ผมเองก็ไม่ได้ว่าจะทิ้งศาสตร์ทางโลกอะไรครับ นี่ก็ยังเตรียมสอนนักศึกษา วางแผนจะกลับไปทำงานให้ได้เหมือนเดิม ผมก็ยังจ่ายบัตรเครดิต ยังวุ่นวายกับงานเอกสาร กำลังจะออกไปซื้อของขวัญปีใหม่ ผมยังอยากแต่งจักรยาน แต่งงาน และผมยังต้องผ่อนบ้านครับ แน่นอนว่ามีรถขับปาดหน้าผมก็จัดไปชุดหนึ่งก่อนเหมือนกันครับ
กติกาและเงื่อนไขในการเล่นเกมส์ชีวิตนี้ก็ยังเหมือนเดิมครับ แต่ผมเริ่มเล่นมันด้วยสกิลเสริมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งทำผมมีความสุขมากขึ้นในเกมส์นี้นะ การหันมาอัพสกิลด้านจิตใจนี้ มันช่วยทำให้ชีวิตผมสงบขึ้น นิ่งขึ้น เวลาเจอปัญหาหรือเจอสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ผมรับมือกับมันได้ดีขึ้น เข้าใจผู้คนและสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น และผมสามารถสบตากับความตายได้ดีขึ้นนิดนึง
ตอนนี้ผมก็ยังทำไม่ได้ ผมยังกลัวตาย แต่ผมเชื่อว่า ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ผมก็น่าจะทำได้ดีขึ้น ผมหวังว่าวันหนึ่งผมจะทำใจได้ว่า “ผมรักชีวิตนี้มาก อยากมีชีวิตต่อไปให้นานมากที่สุด แต่ถ้ามันไม่เป็นไปอย่างที่คิด ผมก็โอเคนะ” ผมเพียงแค่อยากฝึกตัวเองให้วันหนึ่งไปอยู่ในจุดที่ ณ วันที่ความตายมาหาผมจริง ผมน่าจะพร้อมที่จะเจอมันมากกว่าผมตอนที่ไม่ได้ฝึกมาก่อน ผมหวังว่า ผมจะนอนหรือนั่ง ยิ้มรับมัน แล้วก็ “โอเค มาแล้วเหรอ” อยากจะไปแบบสงบๆ นิ่งๆ คูลๆน่ะครับ
สิ่งเหล่านี้ ถ้าผมมาคิดและเริ่มฝึกตอนแก่มันไม่น่าทันครับ (สมมติว่าผมอยู่ไปจนแก่ได้จริง) คือผมว่ามันยากนะ การจะยิ้มรับความตายแบบคูลๆเนี่ย
สมมติผมวิ่งตามโลกทุนนิยมนี่ไปจนเป็นสุดยอดเป็นศาสตราจารย์เชี่ยวชาญพิเศษที่มีตำแหน่งนำหน้าชื่อยาวกว่านามสกุลตัวเอง แล้วผมเริ่มเจ็บป่วยตอนนั้น คิดได้ตอนนั้น ว่าผมไม่มีทักษะในการรับมือกับความตายเลย จิตใจผมไม่เคยถูกเทรนมาเลย ผมคงจะลนมากๆ เพราะเวลามันเหลือให้ฝึกน้อยแล้ว แต่คราวนี้ผมดันมาเจอการกระตุ้นอย่างแรงในอายุน้อยขนาดนี้ ที่ได้มีโอกาสหันมาเริ่มอัพสกิลที่สำคัญไม่แพ้สกิลทางโลก
ผมว่าผมโชคดีนะ แต่คุณ น่าจะโชคดีกว่า ถ้าคุณอายุใกล้ๆกับผม และคุณมีปอดที่ไม่ได้มีก้อนขนาดเท่ากำปั้น รวมถึงสมองคุณก็ไม่ได้มีก้อนกระจายอยู่ในนั้น
แล้วคุณได้รับโอกาสเดียวกับผม ในการหันมาพัฒนาจิตใจ และหันมองความจริงที่โคตรจริง ว่า เราต้องตายทุกคน ให้เวลาพิจารณามันอย่างจริงจัง ตกตะกอนชีวิตตัวเองหลังจากที่พิจารณาตัวแปร “ความไม่แน่นอน” และ “ความตายของเรา” เข้าไปแล้ว ผมว่าคุณน่าจะได้สมการชีวิตใหม่ เพื่อเล่นเกมส์นี้ต่อไปในแบบของคุณ ตราบเท่าที่เวลาคุณยังเหลือ เพราะผมเอง ก็ยังเป็นผู้เล่นในเกมส์นี้ ผมก็เป็นเพื่อนร่วมทางคนหนึ่งที่กำลังมุ่งหน้าไปที่จุดจบเดียวกัน แม้ผมจะเป็นโรคนี้ แต่เราไม่ได้ต่างกันในกติกาข้อที่ว่าเราไม่รู้ว่า เกมส์จะหมดเวลาเมื่อไรเลยครับ
โอ้ ผมลืมเรื่องสำคัญที่สุดไป ผมตอบสนองต่อการรักษาดีมากๆ ก้อนใหญ่ที่ปอดขวาเล็กลง ก้อนเล็กที่ปอดซ้ายก็หายไปหมด ล่าสุดผมฟิตกว่าสามเดือนที่แล้วอีก ตอนนี้เหมือนได้ปอดใหม่เลยครับ เดี๋ยวรอดูก้อนในสมองช่วงต้นปีอีกที แต่หวังว่าจะไปในทิศทางเดียวกัน
สรุปคือ สามเดือนนี้ผมชนะ ในเกมส์ที่มีโอกาสแพ้มากกว่า โอเค ไอ้โรคนี้ก็ยังน่ากังวล แต่ผมว่าผมมีสิทธิที่จะฉลองการชนะในรอบนี้นะ
เพราะความจริงก็คือ ผมไม่รู้หรอกว่า การติดตามรอบหน้ากับความตายอันไหนจะมาหาผมก่อน ความเป็นไปได้ กับ ความน่าจะเป็น มันเป็นคนละอย่างกันครับ แม้ความน่าจะเป็นมันจะน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้ครับ
และตอนนี้ผมเอง ได้เรียนรู้ว่าความสงบคือความสุข ได้เรียนรู้ว่าชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่คุ้มค่า
ได้เรียนรู้ว่าชีวิตธรรมดาคือชีวิตที่มีความหมายและ ได้เรียนรู้ว่าการแต่งห้องวันคริสต์มาสต์ และการเลือกคัพเค้กลายซานต้าไปฝากคนอื่นมันก็สนุกกว่าที่คิด
Merry Christmas และ สวัสดีปีใหม่ครับ
หนังสือที่ผมอ่านในช่วงที่ผ่านมา
– “Advice for Future Corpses (and Those Who Love Them)” by Sallie Tisdale
– “How We Live Is How We Die” by Pema Chodron
– “How to Stop Worrying and Start Living” by Dale Carnegie
– “The Last Lecture” by Randy Pausch
– “When Breath Becomes Air” by Paul Kalanithi
– “แก่นพุทธศาสตร์” หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ
– “สิ่งเดียวที่จัดการได้คือใจของเรา” และ “เตรียมตัวสอบไล่วิชาชีวิต” พระไพศาล วิสาโล