เสียงสะท้อนจากภาพวาดของลูก

เสียงสะท้อนจากภาพวาดของลูก

เสียงสะท้อนจากภาพวาดของลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ลอร่า-ศศิธร

ลอร่าไขความลับ จากรูปวาดของเด็ก ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของเด็กที่ได้รับความรุนแรงจากคนในบ้านหรือในชุมชน พร้อมคำแนะนำในการดูแลจากนักจิตวิทยา

เรื่องนี้ได้รับความรู้มาจากการสัมภาษณ์คุณมานูเอล่า แบร์น่า (Manuela Sberna) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลด้านจิตวิทยาให้กับเด็กๆ ของ "บ้านพักฉุกเฉิน" ภายใต้การดูแลของ "สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี" ขยายความได้ว่า

พ่อแม่ใกล้ชิดลูกและรู้จักลูกดีกว่าใคร รู้ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของเขา รู้จักอารมณ์พื้นฐานของเขา จึงเป็นการง่ายที่จะแปลความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพของลูกๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นเส้นผมบังภูเขาหากความใกล้ชิดนั้น ทำให้ลูกไม่ปฏิบัติตามคำเชิญชวนเมื่อเปรียบกับการที่ลูกได้รับคำเชิญชวนจาก คุณครู หรือนักจิตวิทยาซึ่งไม่คุ้นเคยนัก

ดังนั้น หากพ่อแม่ต้องการให้ความลับที่ซ่อนอยู่ในใจของลูกๆ ได้รับการเปิดเผยอีกครั้งด้วยเครื่องมือการสื่อสารที่จะเจาะลึกเข้าไปถึง หัวใจของเด็กน้อยโดยไม่ต้องเข้าไปค้นเค้นกันให้ยุ่งยากอะไร แต่สำคัญที่ว่าพ่อแม่อย่างเราอาจต้องทำให้เป็นเรื่องสนุก เป็นเกมส์เพื่อเด็ก และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้วาดภาพตามใจเขา

เมื่อได้วาดภาพหลายๆ ภาพเราก็พอจะเริ่มเข้าใจความคิดบางอย่างของเขาได้ และพ่อแม่ก็ควรหมั่นฝึกฝนการอ่านใจลูกน้อยจากลายเส้นและการลงสีของลูกน้อย ให้แม่นยำมากขึ้น เพื่อช่วยให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้นและพ่อแม่ก็จะได้รู้จักตัวเขามากขึ้น ด้วยเช่นกัน หากมีสิ่งใดน่าเป็นห่วงเกิดขึ้นเราจะได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ถูกต้องทัน ท่วงทีก่อนที่บุคลิกภาพของเด็กจะหล่อหลอมเต็มที่ในวัย 18 ปี

จะทำอย่างไรดีหากลูกของเราไม่ชอบวาดรูป คุณมานูเอล่า แนะนำว่า ลองให้เขาระบายสีจากภาพการ์ตูนสำเร็จรูปก็ได้ โดยในระหว่างที่เขาวาดก็ปล่อยให้เขาเป็นอิสระแต่พ่อแม่แอบเข้าไปสังเกตการณ์ ว่าเขามีวิธีการใช้เส้นสีหนักเบาอย่างไร

เมื่อระบายสีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้เขาเล่าเรื่องจากภาพนั้น หรือในกรณีที่ลูกไม่ชอบวาดรูปแบบอิสระ (Free Drawing) แต่ชอบวาดรูปเดิมๆ แบบลอกแบบ ก็ให้เขาวาดแบบนั้นก่อนก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ "การถามคำถามจากภาพนั้น"

หัวใจสำคัญของการตั้งคำถามจากภาพวาดทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น วาดอิสระตามใจอยาก วาดลอกเลียนแบบหรือระบายสีในภาพวาด คือ ถามลูกว่า "ลูกอยากเป็นอะไรในภาพ เป็นการ์ตูนตัวไหน เจ้าตัวนั้นกำลังทำอะไรอยู่ เจ้าตัวนั้นรู้สึกอย่างไร เจ้าตัวนั้นอยากทำอะไร" ซึ่งการถามเช่นนี้เป็นการถามเชิงอ้อม ไม่ยิงตรงใส่ลูกเปรี้ยงๆ จึงช่วยให้ลูกตอบได้เต็มที่ไม่มีเคอะเขิน เพราะรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องสมมุติ

เทคนิคการอ่านใจลูกจากภาพวาดนั้นมีหลายอย่างด้วยกันค่ะ นักจิตวิทยาท่านนี้กล่าวว่าไม่ง่ายนัก แต่ก็พอจะฝึกฝนได้ กล่าวคือ รู้จักการอ่านภาพวาดที่ บ่งบอกถึงเรื่องราวที่น่าสงสัย เช่น ภาพที่ดูแล้วก็เห็นถึงความไม่สมดุลของภาพ ภาพที่ว่างเปล่าเกินไปจนมีกระดาษเปล่าเหลือเยอะ อาจหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่ราบรื่น

ภาพที่วาดใบหน้าเล็ก หรือ ภาพที่ไม่มีหน้า ไม่มีตา หรือ ปาก ไม่มีแขน ไม่มีขา เพราะใบหน้าและแขนขา เป็นสัญลักษณ์แทนถึงความรู้สึกที่มีต่อตนเองและสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ภาพที่วาดด้วยสีดำ สีแดงมากเกินไป วาดแล้วขีดฆ่าทิ้งหรือลงด้วยสีดำทับลงไป ภาพที่วาดด้วยลาดเส้นแข็งๆ เต็มไปด้วยเหลี่ยมคม กดเส้นด้วยความรุนแรง วาดเหมือนไม่เต็มใจวาด แสดงถึงความคับข้องทางอารมณ์ มีความกดดันทางจิตใจ

ภาพที่ใช้ลายเส้นเบาบาง เขียนเหมือนไม่ได้ตั้งใจจะเขียนให้ติด อาจหมายถึง ความต่ำเนื้อน้อยใจในตัวเอง ภาพที่วาดแล้วมองไม่ออกว่าเป็นคนหรือสัตว์หรืออะไรอาจหมายถึงระดับสติปัญญา ที่ต่ำก็เป็นได้ หรืออาจเป็นสไตล์ของเขาก็เป็นได้ซึ่งก็ต้องใช้เวลาติดตามต่อไป

ภาพที่วาดเสร็จแล้วแต่มีรอยลบแบบลบแล้วลบอีกโดยเฉพาะส่วนที่ไม่อยากพูดถึง เช่น ลบตัวเองออกไปก็หมายถึงความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง

แต่ถ้ารูปที่ดีอยู่แล้วแต่พยายามลบแล้วลบอีกให้ดีขึ้น ก็อาจหมายถึงเด็กที่เป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ ที่มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ เพราะรู้สึกว่าไม่เคยทำอะไรดีพอ

ส่วนตัวแล้วก็เคยมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ค่ะ บังเอิญว่าลูกสาวคนโตมีอาการแพ้นมวัวในช่วงอนุบาล 3 และได้รับคำแนะนำจากคุณหมอภูมิแพ้ให้งดนมวัวสักสองปี

วันหนึ่งเมื่อเธอไปร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ คุณครูให้ระบายสีภาพสวรรค์แสนสวย ฉากหนึ่งในนั้นมีโต๊ะอาหารกว้างใหญ่ ปรากฏว่าลูกสาวเลือกใส่ภาพที่เต็มไปด้วยขนมนมเนย พร้อมกับเล่าเรื่องว่า "เมื่อหนูไปพบพระเจ้าบนสวรรค์หนูก็จะได้ทานเค้กนมวัว ทานไอติมนมวัวซะที" คุณครูจึงมาเล่าให้ฟัง พอได้ฟังยังงี้ก็ต้องจัดให้!

ลอร่ารีบหาทางเลือกที่สาม พุ่งเข้าเว็บไซต์หาตำราทำขนมที่ไม่ใส่นมเนย เดชะบุญขอบคุณพระเจ้า ได้มาเพียบ! จากที่ไม่เคยลงมือทำอาหารก็ต้องฝึกกันทันที ได้แรงบันดาลใจดีด้วย "เสียงสะท้อนจากภาพวาด" ของคุณลูกนี่ละค่ะ ฮะฮ้า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ได้ผลอย่างไรเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ ฉบับหน้ามีเรื่องราวของ "สัดส่วนของภาพวาดกับอารมณ์และความคิดของเด็ก" มาฝากกันค่ะ

ถ้าคุณสนใจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือเด็กน้อยที่ได้รับผลจากความรุนแรงสามารถติดต่อได้ที่บ้านพักฉุกเฉิน 0-2929-2222

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook