ตะลึง เด็กหญิง 4 ขวบ ปวดท้องนาน 1 เดือน เอกซเรย์เจอ "บัคกี้บอล" 61 เม็ดในท้อง
ด.ญ.วัย 4 ขวบ ปวดท้องมา 1 เดือน เอกซเรย์ผวาเห็นจุดขาวยาว 1 เมตร ก่อนหมอช่วยผ่าเอาบัคกี้บอล 61 เม็ด ออกมาจากในท้อง
เว็บไซต์ ETtoday รายงานว่า เด็กหญิงวัย 4 ขวบ จากเมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง จีน ได้กลืน บัคกี้บอล หรือ ลูกปัดแม่เหล็ก ของเล่นของพี่ชายของเธอ กระทั่งบัคกี้บอลดูดเข้าหากัน และบีบผนังลำไส้ของเด็กหญิง ส่งผลให้ทางเดินอาหารของเธอทะลุถึง 14 รู
แม้ว่าแพทย์จะช่วยเธอผ่าตัดเอาเม็ดแม่เหล็ก 61 เม็ดออกมาได้ แต่ระบบทางเดินอาหารของเด็กหญิงได้รับความเสียหายอย่างหนัก และอาจได้รับผลกระทบจากการเกาะติดของลำไส้หรือลำไส้อุดตันไปตลอดชีวิต
รายงานข่าว ระบุว่า เซียวเล่อ (นามสมุมติ) เด็กหญิงวัย 4 ขวบ จากเมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดท้องเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ ที่โรงพยาบาลท้องถิ่น
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พ่อแม่ของเธอพาเธอไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเด็กในสังกัดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง
แพทย์ทำการเอกซเรย์ให้เซียวเล่อ และรู้สึกตกใจที่เห็นจุดสีขาวยาวประมาณ 1 เมตร ในระบบทางเดินอาหารของเธอ ในตอนแรกแพทย์คิดว่า เด็กคนนี้มีสายกำไลอยู่ในท้อง
อย่างไรก็ตาม จากกรณีของสิ่งแปลกปลอมในทางเดินอาหารที่โรงพยาบาลพบก่อนหน้านี้ แพทย์สงสัยว่าเซียวเล่อได้กลืนเม็ดแม่เหล็กที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "บัคกี้บอล" ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
ขณะที่แม่ของเซียวเล่อ ก็ยืนยันว่า มีลูกปัดแม่เหล็กอยู่ที่บ้านจริงๆ แต่พี่ชายของเซียวเล่อมักจะเล่นกับมัน
โรงพยาบาลได้ทำการผ่าตัดเสี่ยวเล่อทันที และนำเม็ดแม่เหล็กออกมาทั้งหมด 61 เม็ด ซึ่งการผ่าตัดของเด็กหญิงเป็นไปด้วยดี แต่เธอก็ยังจำเป็นต้องทำ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป
นายแพทย์ เกา จื้อกัง รองประธานโรงพยาบาลและผู้อำนวยการศูนย์ส่องกล้อง กล่าวว่า แม้ว่า บัคกี้บอลจะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีแม่เหล็กมาก
เขาชี้ให้เห็นว่า เสี่ยวเล่อไม่ได้กลืนเม็ดแม่เหล็กทั้งหมดในเวลาเดียวกัน แต่เนื่องจากเม็ดแม่เหล็กที่เข้าไปในระบบทางเดินอาหารในเวลาต่างๆ กัน จะดึงดูดเข้าหากัน ผนังลำไส้จะถูกประกบระหว่างบัคกี้บอลทั้งสอง และลำไส้จะค่อยๆ ทะลุ
นายแพทย์ เกา จื้อกัง ยังกล่าวอีกว่า "เมื่อเอามันออกมา (ลำไส้) เต็มไปด้วยรูทั้งหมด 14 รู ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเด็กคนนี้"
เขาอธิบายว่า แม้ว่าจะสามารถรักษาได้ แต่ความเสียหายนั้นร้ายแรง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดลำไส้ยึดเกาะและลำไส้อุดตัน และผู้ป่วยเด็กรายนี้ยังเป็นผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะลำไส้ทะลุมากที่สุดเท่าที่เคยพบมาอีกด้วย