ภัยเงียบ "ชิคุนกุนยา" เจ็บจนตัวงอ คนไทยป่วยเป็นร้อยราย สคร.9 ชี้ยังไม่มียารักษา
สคร.9 ชี้ โรคชิคุนกุนยา เป็นภัยเงียบ ทำ ปชช. 4 จังหวัด” นครชัยบุรินทร์” ป่วยในปี 2565 มากถึง 134 ราย ยังไม่มียารักษา
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ว่า เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่อาการของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งสถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 30 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วย 134 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 90 ราย , จังหวัดนครราชสีมา มีป่วย 12 ราย ,จังหวัดสุรินทร์ ป่วย 32 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีรายงานผู้ป่วย โดยช่วงอายุที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด คือ ช่วงอายุ45-54 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี และอาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อาชีพเกษตรกร กับอาชีพรับจ้าง ส่วนสถานการณ์ของโรคฯ ในปี 2566 ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย
แต่ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา ต้องให้การรักษาตามอาการ และแม้อาการจะแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ตรงที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อก แต่เมื่อถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด จะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน และอาการที่สำคัญคือ ปวดข้อ ปวดกระดูก คล้ายกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา มาจากภาษาสวาฮิลี เป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง
เจ็บจนตัวงอ สะท้อนให้เห็นถึงอาการของผู้ป่วยที่เจ็บปวดตามข้อ ปวดข้อต่อ ข้อนิ้ว ข้อเท้า เข่า ปวดกระดูก จึงต้องเน้นหนักเรื่องการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เมื่อมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง เช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ และใช้หลักการป้องกันเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก